คำศัพท์หมวด จ


จ๋ง เป็นเสียงโทนมโหรี หรือเสียงหน้าลุ่ยของกลองแขกตัวเมีย ที่ผู้ตีใช้นิ้วตีลงไปบนหนังที่ชิดกับขอบ บางคนฟังเป็นเสียง “น้ง” ก็มี

______________________________

จน หมายถึงการที่นักดนตรีบรรเลงเพลงอันถูกต้องที่เขาประสงค์ไม่ได้ อธิบาย : เพลง ที่นักดนตรีจำจะต้องบรรเลงให้ถูกต้องตามความประสงค์นั้น หลายอย่าง เป็นต้นว่านักร้องเขาส่งเพลงอะไรนักดนตรีก็ต้องบรรเลงรับด้วย เพลงนั้น หรือเมื่อคนพากย์เจรจา หรือคนบอกบทเขาบอกให้บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ อะไร นักดนตรีก็ต้องบรรเลงเพลงนั้น ถ้าหากนักดนตรีบรรเลงเพลงให้ตรงกับที่นักร้อง เขาร้องไม่ได้ หรือบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ตามที่คนพากย์เจรจา หรือคนบอกบทเขาบอกไม่ได้ จะเป็นนิ่งเงียบอยู่หรือบรรเลงไปโดยกล้อมแกล้มหรือบรรเลงไปเป็นเพลง อื่นก็ตาม ถือว่า “จน” ทั้งสิ้น

______________________________

จอด  หมายความว่าการบรรเลงนั้นไปไม่รอด ต้องล้มเลิกกลางคัน บางทีแถมเติมเป็นว่า “จอดไม่ต้องแจว”

______________________________

จ๊ะ เป็นเสียงรำมะนามโหรี ที่ผู้ตีใช้นิ้วตีกดลงบนบริเวณกึ่งกลางหน้าหนัง หรือเป็นเสียงหน้าต่านของกลองแขก ผู้ที่ตีลงบนหน้ากลองใกล้กับขอบกลอง โดยตีแล้วยกมือขึ้นทันที เพื่อให้เสียงดังกังวาน

______________________________

จังหวะ คือการดำเนินทำนอเพลงด้วยเวลาอันสม่ำเสมอ ทำนองเพลงนั้นอาจแบ่งเป็นส่วนย่อยๆ โดยแต่ละส่วนดำเนินไปด้วยเวลาอันสม่ำเสมอ               

                เครื่องบังคับจังหวะส่วนย่อยที่สุด ก็คือ “ฉิ่ง” ยาวขึ้นมาหน่อยคือ กรับ กับ โหม่ง และยาวที่สุดคือหน้าทับกลองประเภทต่างๆ การดำเนินทำนองเพลงทุกชนิดจะต้องอยู่ภายในเวลาที่เครื่องประกอบจังหวะเหล่านี้กำหนด ถ้าพลาดไปก็เรียกว่า “คร่อม” หรือ “คร่อมจังหวะ”

              โดยทั่วไป จังหวะที่ใช้อยู่ในวงการดนตรีไทยมี ๔ อย่าง คือ

๑)     จังหวะฉิ่ง ใช้ประกอบจังหวะในระยะสั้น โดยแบ่งจังหวะด้วยเสียง “ฉิ่ง” และ “ฉับ” “ฉิ่ง” นั้นเป็นเสียงที่ลงจังหวะเบา ส่วน “ฉับ” นั้นลงจังหวะหนัก

               โดยปกติจะตีฉิ่งเป็นเสียง “ฉิ่ง” และ “ฉับ” สลับกันไปเสมอ เร็วบ้างช้าบ้างแล้วแต่อัตราของเพลง เช่น เพลงในอัตรา ๓ ชั้นก็ดีช้ากว่าอัตรา ๒ ชั้นเท่าตัว ดังนี้เป็นต้น แต่มีหลายกรณีที่จะต้องตีฉิ่งให้แปลกออกไป เช่น เพลงสำเนียงจีนหรือญวน จะต้องตีเป็นเสียง “ฉิ่ง ฉิ่ง ฉับ”  เพลงะเชิดหรือเพลงกราวตีแต่เสียง “ฉิ่ง” อย่างเดียว ถ้าเชิดจีนก็ดีแต่  “ฉับ” อย่างเดียว เว้นแต่ตอนออกเชิดตอนท้ายจึงมีแต่ “ฉิ่ง” อย่างเดียว

                ยังมีจังหวะฉิ่งที่ใช้เป็นพิเศษอีก เช่น มีการรวบหรือตีฉิ่งให้กระชั้นในตอนท้ายของแต่ละวรรค ซึ่งสำหรับคนหัดใหม่แล้ว ตียากไม่ใช่เล่น เพลงที่จะต้องตีฉิ่งในลักษณะนี้ เช่น ขมตลาด โอ้โลม โอ้ชาตรี เป็นต้น

                ที่ต้องตีฉิ่งรวบหรือกระชั้นในตอนท้ายวรรค ก็เพราะเพลงเหล่านี้มีวรรคละ ๓ จังหวะครึ่ง มิได้มีครบ ๔ จังหวะ เหมือนเพลงธรรมดาทั่วไป

๒)     จังหวะกรับและโหม่ง จังหวะพวกนี้ใช้วัดระยะในขนาดปานกลาง เช่น พอฉิ่งลงเสียงฉับก็ตีกรับลงไปเสียทีหนึ่ง เป็นเชิงบอกว่า “เออ เจ้าฉิ่งเอ๋ย เอ็งตีแม่นดีแล้ว”  พอฉิ่งตีได้สองฉับก็ลงเสียงโหม่งกำกับลงไปอีกทีหนึ่ง

๓)     จังหวะหน้าทับ อันนี้เป็นการวัดจังหวะในระยะยาว เพื่อเป็นการตรวจสอบครั้งสุดท้ายว่าเจ้าพวก ฉิ่ง กรับ และโหม่งนั้น ได้วัดระยะสั้นและระยะกลางมาอย่างถูกจริงๆ เมื่อตีหน้าทับจบไปเที่ยวหนึ่ง ก็ถือว่าเพลงได้ดำเนินไป  ๑ จังหวะแล้ว ถ้าเพลงนี้มี ๔ จังหวะปรบไก่ ก็หมายความว่าตีหน้าทับปรบไก่กลับไปกลับมาได้ ๔ เที่ยวก็จบเพลงพอดี

เรื่องของหน้าทับมีมาก ควรดูคำว่า “หน้าทับ” ประกอบ ในที่นี้ให้เข้าใจว่า ฉิ่งใช้วัดจังหวะในระยะสั้น กรับและโหม่งวัดปานกลาง ส่วนหน้าทับวัดในระยะยาว คือวัดทีหนึ่งก็หมดวรรคไปเลย เป็นการทดสอบให้แน่ใจว่า ฉิ่ง กรับ โหม่ง ได้กำกับเวลามาอย่างสม่ำเสมอถูกต้องจริงๆ เช่น เพลงจังหวะปรบไก่สองชั้น วรรคหนึ่งมี ๔ ห้อง ฉิ่งต้องตีกำกับจังหวะทุกห้อ กรับและโหม่ง ๒ ห้องตีทีหนึ่ง ส่วนหน้าทับนี้ตีทีเดียววัดได้ ๔ ห้องเย

๔)     จังหวะเพลงทั่วไป เพลงแต่ละเพลงนั้นมีจังหวะประจำว่า ควรต้องช้าหรือเร็วขนาดนั้นๆ จึงจะบรรเลงได้ไพเราะ ข้อนี้ไม่มีใครบอก แต่ผู้บรรเลงก็ควรสังเกตและรู้เอาเองว่าแค่ไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด ถ้าเราไปเล่นเพลงซึ่งควรจะช้าให้เร็วไปมันก็ไม่เพราะ

______________________________

จับ  เป็นคำที่ใช้เฉพาะเพลงเชิดนอก หมายความถึงท่อนหรือตัวนั่นเอง ตามปกติแล้วเพลงจะแบ่งออกเป็นท่อน และท่อนแบ่งออกเป็นวรรคอีกทีหนึ่ง เว้นแต่เพลงประเภทเชิด เช่น เชิดจีน เชิดฉาน เชิดฉิ่ง เชิดใน เหล่านี้ จึงจะแบ่งเป็น “ตัว”

                เพลงเชิดพิเศษที่ไม่ได้แบ่งเป็นตัว แต่แบ่งเป็นจับก็คือเพลงเชิดนอกที่กล่าวถึงนี้ เหตุที่เพลงเชิดนอกแบ่งเป็นจับก็เพราะในการเบิกโรงหนังใหญ่ด้วยการแสดงชุด “จับสิงหัวค่ำ” นั้น ปี่จะต้องเป่าเพลงเชิดนอกประกอบการรบกับระหว่างลิงขาวกับลิงดำ และในที่สุดลิงขาวก็จับลิงดำได้ และนำไปถวายพระฤษี

                การสู้รบระหว่างลิงขาวกับลิงดำนี้ คนเชิดจะนำหนังภาพการต่อสู้กันด้วยท่าต่างๆ ที่เรียกว่า “หนังจับ” ออกมา ๓ ครั้ง เมื่อเชิดออกมาแต่ละครั้งนั้น ปี่จะต้องเป่าเป็นเสียง “จับให้ติดตีให้ตาย” หรือ “ฉวยตัวให้ติตีให้แทบตาย” หรือ “ตีให้ตาย ตีให้แทบตาย”  ทำนองนี้ ซึ่งเรียกกันว่า “เป่าจับ”

               โดยที่มีการเชิดหนังจับออกมา ๓ หน และปี่ก็ต้องเป่าจับ ๓ ครั้งเช่นเดียวกัน จึงถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาว่า เพลงเชิดนอกที่ครบบริบูรณ์จะต้องมี ๓ จับ และคำว่า “จับ” ก็เลยนำมาใช้เป็นการแบ่งท่อนแทนคำว่า “ตัว” ของเพลงเชิดนอกไปเลย

______________________________

จำ  หมายความว่านักดนตรีนั้นแสดงตนเป็นคนสำคัญของวง จึงพูดกันว่า “เขาจำอยู่ในวงของนาย ก” เป็นต้น

______________________________

จืด  หมายความว่า การบรรเลงหรือการร้องครั้งนั้น ดำเนินไปอย่างเรื่อยเฉื่อยไม่เป็นรสอย่างหนึ่ง กับหมายความว่าเพลงที่บรรเลงนั้น คนอื่นเขาก็บรรเลงอยู่บ่อยๆ จนคนฟังพากันเบื่อไปแล้วอีกอย่างหนึ่ง ทั้งสองกรณีนี้เรียกว่า “จืด” ทั้งสิ้น

______________________________

เจี๊ยว  คือการบรรเลงที่ไม่ค่อยผสมผสานกลมกลืนกันเท่าใดนัก ยิ่งมีเครื่องมากแทนที่จะเกิดความไพเราะ กลับเกิดเป็นเสียงแซดฟังไม่เป็นศัพท์ อย่างนี้ท่านเรียกว่า “เจี๊ยว” หรือ “เจี๊ยวจ๊าว”

______________________________

แจว หมายถึงการบรรเลงที่ค่อนข้างเร็ว เช่น วงดนตรีวงนี้พอขึ้นเพลงได้ก็แจวอ้าวไปเลย ดังนี้เป็นต้น

 

ใส่ความเห็น