คำศัพท์หมวด ถ


ถ่ง เป็นสำเนียงของฆ้องใหญ่เมื่อตีด้วย “คู่ ๔”

______________________________

ถอด เพลงเถาบางชนิด อัตรา ๒ ชั้น และชั้นเดียวเป็นอย่างเก่า ส่วนอัตรา ๓ ชั้นได้รับการยืดขยายให้มีลูกล้อลูกขัดอย่างพิสดาร เช่น เพลง “ทยอยใน (เถา)” เป็นต้น อัตรา ๓ ชั้นยาวเหยียด เพราะประกอบด้วยลูกล้อลูกขัดต่างๆ แต่อัตรา ๒ ชั้นกับชั้นเดียวสั้นมาก เพราะเป็นทางเก่าที่ยังมิได้ใส่ลูกล้อลูกขัดตามอัตรา ๓ ชั้นขึ้นไปนั่นเอง เพื่อไม่ให้ฟังลักลั่นกัน ครูบาอาจารย์ท่านจึงคิดทำอัตรา ๒ ชั้น และชั้นเดียวขึ้นใหม่ คือ ตัดครึ่งจากทาง ๓ ชั้น และ ๒ ชั้นลงมาโดยตรงตามลำดับ ทางดังกล่าวนี้ก็เท่ากับ “ถอด” ออกมาจาก ๓ ชั้น และ ๒ ชั้นโดยตรงนั่นเอง นักดนตรีจึงนิยมเรียกกันว่าเป็น “ทางถอด” ด้วยประการฉะนี้

______________________________

ถอน การ “ถอน” เกิดขึ้นเมื่อต้องการจะลดจังหะเท่าตัวจาก ๓ ชั้นลงมาเป็น ๒ ชั้น หรือจาก ๒ ชั้น ลงมาเป็นชั้นเดียว (ซึ่งโดยทั่วไปก็มักจะใช้ลดจาก ๒ ชั้นลงมาเป็นชั้นเดียวแทบทั้งสิ้น)

              วิธีการคือเร่งจังหวะเพลงในชั้นที่กำลังบรรเลงให้เร็วขึ้น จนกระทั่งฉิ่งตีเร็วใกล้เข้าไปกับชั้นที่ต้องากรลดจึงหักจังหวะลงเท่าตัวแล้วบรรเลงในชั้นที่ลดต่อไปด้วยจังหวะฉิ่งอันเดิม เช่น  ถ้ากำลังบรรเลง “เพลงเชิด ๒ ชั้น” อยู่และต้องการจะ “ถอน” ลงชั้นเดียว ผู้บรรเลงก็จะเร่งจังหวะ ๒ ชั้น โดยเก็บให้ถี่ยิบขึ้น จนกระทั่งฉิ่งที่ตี ๒ ชั้นอยู่นั้น เร่งจังหวะเร็วใกล้เข้าไปเกือบถึงชั้นเดียวจึงหักจังหวะลงเท่าตัว แล้วบรรเลงเพลง “เชิดชั้นเดียว” ต่อไปด้วยจังหวะฉิ่งที่กำลังเดินอยู่นั้น ซึ่งเมื่อฟังติดต่อกันแล้วจะออกรสดีพิลึก

______________________________

เถา เป็นชื่อเพลงชนิดหนึ่งซึ่งประกอบขึ้นด้วยเพลงเพลงเดียวกันที่มีอัตราลดหลั่นลงไปเป็นลำดับ นำมาร้องหรือบรรเลงติดต่อกันเป็นพืดไปอย่างน้อย ๓ อัตรา ซึ่งโดยปกติก็ร้องหรือบรรเลงตั้งแต่อัตรา ๓ ชั้นลงมาจนถึงชั้นเดียว ที่บรรเลงตั้งแต่ ๔ ชั้นลงมาถึงครึ่งชั้นก็มี แต่มีน้อย

     เพลงเถานี้จะมีแต่ร้องเฉยๆหรือบรรเลงเฉยๆ หรือจะมีทั้งร้องและรับก็ได้ แต่ตามปกติเมื่อเวลาเล่นเพลงเถาแล้วก้มักจะมีทั้งร้องและรับเสมอ

______________________________

แถม หมายถึงการยืมหน้าทับของเพลงหนึ่ง แต่ความยาวของหน้าทับไม่พอกับเพลงหลังนี้ ฉะนั้นจึงต้องเพิ่มตอนท้ายขึ้นอีก เพื่อให้พอดีกับเพลงดังกล่าว อาการที่เพ่มขึ้นนี้เรียกว่า “แถม” เช่น เพลงสระบุหรุ่ง ใช้หน้าทับ “ลงทรง(แถม)” เป็นต้น

 

คำศัพท์หมวด ซ


ซอ นอกจากหมายถึงเครื่องดนตรีประเภทใช้สายแล้ว ยังหมายถึงการขับร้องทางภาคเหนืออีกด้วย เช่นว่า “ขับซอยอโฉมพระเพื่อนพระแพง” หรือ “ขับซอยอราชเฑียร ทุกเมือง” เป็นต้น แปลความหมายว่า “ขับร้องยอโฉม…” นั่นเอง

______________________________

ซัด แปลตรงๆว่า “สลัดแขน” ซึ่งนำมาใช้กับท่ารำที่เรียกว่า “รำซัดชาตรี” หรือ “รำซัด” เครื่องดนตรีที่ประกอบการ “รำซัด” ดังกล่าวนี้คือ ปี่ ทับ ๒ ใบ กลองชาตรี ๑ คู่ ฆ้อง ๑ คู่ และฉิ่ง

              ผู้รำจะแสดงท่าต่างๆ ตามจังหวะให้ดูสวยงาม แล้วจะซัดด้วยการสลัดแขนตั้งวงเป็นระยะๆไป เอาตั้งแต่ห่างจนกระทั่งค่อยถี่ลงไปเป็นลำดับ ตอนที่ผู้รำทำท่า “ซัด” นี้ ทับ (หรือโทนก็ได้) ก็จะต้องตีซัดเป็นเสียง “โท่นโท่น ป๊ะ ป๊ะ” เช่นเดียวกัน

คำศัพท์หมวด ช


ชั้น เป็นชื่อแสดงอัตราของเพลงซึ่งลดหลั่นกันลงมาเป็นลำดับ หรือทวีคูณขึ้นไปเป็นลำดับ อัตราที่ลดหลั่นหรือทวีคูณขึ้น เป็นลำดับนี้ เรียกว่า “ชั้น” แต่เดิมอัตราสูงสุดของเพลงมีแค่ ๓ ชั้น แล้วตัดครึ่งลงมาเหลือ ๒ ชั้น และตัดอีกครึ่งลงมาเหลือชั้นเดียว หรือถ้าจะพูดทางกลับกันก็ว่าเพลง ๒ ชั้น เป็นสองเท่าของเพลงชั้นเดียว และเพลง ๓ ชั้นก็เป็นสองเท่าของเพลง ๒ ชั้น

           ในปัจจุบันนี้บางเลพงมีตั้งแต่ ๔ ชั้น ลงมาหาครึ่งชั้นก็มี แต่โดยมาก็มีแค่ ๓ ชั้น ถึงชั้นเดียว ถ้าสมมติว่าเพลงนั้นมีท่อนเดียว และมีความยาว ๑ หน้าท้บปรบไก่ เพลงในอัตราแต่ละชั้นจะมีความยาวลดหลั่นกันดังนี้

อัตรา              ความยาวเทียบกับโน้ตสากล ๒/๔

๔ ชั้น                          ๑๖ ห้อง

๓ ชั้น                           ๘  ห้อง

๒ ชั้น                            ๔ ห้อง

ชั้นเดียว                        ๒ ห้อง

ครึ่งชั้น                          ๑ ห้อง

เสี้ยวชั้น                    ๑/๒ ห้อง

               เพลงรุ่นแรกๆ ของไทยนั้นเป็นเพลงในอัตราชั้นเดียวแทบทั้งสิ้น ต่อมาภายหลังจึงได้รับการยืดขยายขึ้นเป็น ๒ ชั้นและ ๓ ชั้น ตามลำดับ บางเพลงก็ได้รับการยืดขยายขึ้นเป็น ๔ ชั้นทีเดียว

______________________________

ชั้นเชิง เรียกสั้นๆว่า “เชิง” เช่น “คนระนาดคนนี้ไม่มีเชิงเสียเลย” หรือ “คนระนาดคนนี้ชั้นเชิงของเขาพอดู” ดังนี้เป็นต้น

              คำว่า “ชั้นเชิง” หรือ “เชิง” นี้ หมายความถึงวิธีเล่นเครื่องดนตรีของแต่ละคนว่าดีหรือไม่ดีเพียงใด ถ้าเล่นดีมีลูกพลิกแพลงต่างๆเหมาะสมแก่เครื่องดนตรีนั้นๆแล้ว ก็เรียกว่า “มีชั้นเชิง” หรือ ” มีเชิง” ถ้าเล่นไม่ดีหรือเล่นลูกพลิกแพลงเหมือนกันแต่ฟังแล้วไม่เข้าท่า ไม่เหมาะแกเครื่องดนตรีชนิดนนั้น ก็เรียกว่า “ไม่มีชั้นเชิง” หรือ “ไม่มีเชิง”

______________________________

เช็ด คืออาการที่ผู้ตีฆ้องวงตีลูกฆ้องไม่เต็มเสียง โดยมากเกิดขึ้นตอนที่เพลงกำลังไหว (เร็ว) จัด คนตีฆ้องวงตีไม่ทันก็เลยเอาไม่ตีเขี่ยๆข้ามลูกไป อาการเช่นนี้สำหรับระนาดเรียกว่า “เขี่ย” แต่สำหรับฆ้องวงเรียกว่า “เช็ด” คล้ายๆกับว่า ไม่ได้ตีหรอก แต่เอาไม้ตี “เช็ด” ปุ่มฆ้องแต่ละลูกไปเท่านั้น

การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระศพ


การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระศพ

การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระศพ

                การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระราชพิธี ถือว่าเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศา นุวงศ์ และเป็นส่วนหนึ่งในของงานพระราชพิธีที่บรรเลงตามขั้นตอนของงานพระราชพิธี คู่กับวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวังแต่ เดิมการประโคมดนตรีที่เป็นลักษณะประโคมย่ำยาม มีเฉพาะของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง เท่านั้น ประกอบด้วยวงแตรสังข์และวงปี่

ไฉนกลองชนะ มีการประโคมย่ำยามทุก 3 ชั่วโมง คือ

– ยาม 1  เวลา 06.00 น.

– ยาม 2 เวลา 09.00 น.

– ยาม 3 เวลา 12.00 น.

– ยาม 4 เวลา 15.00 น.

– ยาม 5 เวลา 18.00 น.

– ยาม 6 เวลา 21.00 น.

– ยาม 7 เวลา 24.00 น.

                ใน การประโคมงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมในการประโคมย่ำยามด้วย ดังนั้น จึงมี 2 หน่วยงานเข้าร่วมประโคม คือ

                    วงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง (วงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะ)

                    วงปี่พาทย์นางหงส์ ของกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

การประโคมย่ำยาม มีขั้นตอนเรียงลำดับ ดังนี้

                วงประโคมลำดับที่ 1 คือ วงแตรสังข์ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ประโคม “เพลงสำหรับบท” จบแล้ว วงประโคมวงที่ 2 จึงเริ่มขึ้น

                วงประโคมลำดับที่ 2 คือ วงปี่ไฉนกลองชนะ (หรือเรียกว่า วงเปิงพรวด) ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ปี่ไฉน กลองชนะ เปิงมาง “ประโคมเพลงพญาโศกลอยลม” จบแล้ว วงประโคมวงที่ 3 จึงเริ่มขึ้น

                วงประโคมลำดับที่ 3 คือ วงปี่พาทย์นางหงส์ ประกอบด้วย ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง “ประโคมเพลงชุดนางหงส์”

เมื่อประโคม ครบทั้ง 3 วงแล้ว ก็ถือว่าเสร็จการประโคมย่ำยาม 1 ครั้ง

                การที่กรมศิลปากร นำวงปี่พาทย์นางหงส์มาประโคมย่ำยามนั้น แต่เดิม แต่โบราณไม่ได้มี “วงปี่พาทย์” ร่วมประโคมย่ำยาม จะมีแต่เฉพาะ “วงแตรสังข์ และ วงปี่ไฉนกลองชนะ” ของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวังและวงกลองสี่ปีหนึ่ง (ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว) ประโคมในงานพระบรมศพ พระศพ เท่านั้น

                เมื่อ ครั้งงานพระบรมศพของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระประสงค์ให้นำวงปี่พาทย์นางหงส์ ของกรมศิลปากรมาประโคมย่ำยาม ต่อจากวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง นับเป็นครั้งแรกที่ได้นำวงปี่พาทย์นางหงส์มาประโคมย่ำยามด้วย

                แต่เดิม บทบาท “วงปี่พาทย์นางหงส์” เป็นวงที่บรรเลงในงานศพของสามัญชน ต่อมาได้นำมาบรรเลงในงานสวดพระอภิธรรมศพเจ้านาย และใช้ในตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระศพ (ไม่ใช่ประโคมย่ำยาม)

                วง ปี่พาทย์นางหงส์ เกิดจากการนำวงปี่พาทย์ไทย ประกอบด้วย ปี่ใน ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง ประสมกับ วงบัวลอย ซึ่งใช้ในงานเผาศพของสามัญชน (ประกอบด้วย ปี่ชวา 1 เลา กลองมลายู 2 ใบ เหม่ง) (วงบัวลอย มาจาก วงกลองสี่ปี่หนึ่ง ซึ่งใช้เฉพาะงานพระบรมศพ พระศพ ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์)

                วง ปี่พาทย์นางหงส์ จึงประกอบด้วย ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง (เครื่องคู่) สาเหตุที่เรียกว่า วงปี่พาทย์นางหงส์ นั้น เกิดจากการบรรเลงที่เริ่มด้วยเพลงนางหงส์ (เพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน) จึงเรียกชื่อวงและชื่อเพลงชุดนี้ว่า “วงปี่พาทย์นางหงส์และเพลงชุดนางหงส์”

                สาเหตุ ที่นำวงปี่พาทย์นางหงส์มาใช้ในงานอวมงคล เกิดจาก การจัดระเบียบวัฒนธรรมการจัดวงการบรรเลงดนตรีไทย มีระเบียบแบบแผนการจัดวงดนตรีไว้ให้เหมาะกับกาลเทศะ เช่น

– งานมงคล – ใช้วงมโหรี วงเครื่องสาย

– งานประกอบพิธีกรรม – ใช้วงปี่พาทย์(ไทย)

– งานรื่นเริงการบรรเลงเพื่อ – ใช้วงปี่พาทย์เสภา

– การฟัง – ใช้วงปี่พาทย์นางหงส์ และสำหรับงานอวมงคล

ความหมายของเพลงที่บรรเลง

– เพลงที่บรรเลง เรียกว่า “เพลงชุดนางหงส์” ประกอบด้วยเพลง

– เพลงนางหงส์ (หรือเพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน)

– เพลงสาวสอดแหวน

– เพลงแสนสุดสวาท

– เพลงแมลงปอ

– เพลงแมลงวันทอง

                การเรียงร้อยเพลงชุดนี้ โบราณจารย์ท่านเรียบเรียงไว้ ใช้เฉพาะงานอวมงคล ด้วยลักษณะทำนองเพลงบ่งบอกถึงความสงบ ณ สัมปรายภพ

                การ คัดเลือกเพลงที่ใช้บรรเลงนั้น โบราณจารย์ได้จัดระเบียบแบบแผนการใช้เพลงไว้เป็นหมวดหมู่ เช่น กลุ่มเพลงที่ใช้งานมงคลและกลุ่มเพลงที่ใช้งานอวมงคล จะไม่นำมาใช้ปะปนกัน

คำศัพท์หมวด ห


หน่ง  เป็นเสียงลูกฆ้องใหญ่ เมื่อผู้บรรเลงเอาไม้ตีลงไปตรงกลางปุ่มลูกฆ้อง แล้วเปิดมือให้มีเสียงกังวานเต็มที่ฟังเป็นเสียง “หน่ง” หรือ “นัง”

______________________________

หน่วง หมายความว่าให้ดึงจังหวะไว้ อย่าปล่อยให้เร็วเกินไปนัก

______________________________

หนอด เป็นเสียงลูกฆ้องใหญ่ เมื่อผู้บรรเลงเอาไม้ตีตีลงไปตรงกลางปุ่มลูกฆ้องให้เสียงมีกังวานนิดหน่อย แล้วกดไม้ห้ามกังวานมันเสีย จงฟังเป็นเสียง “หน่ง-ง็อด” ฟังเร็วๆเป็นเสียง “หนอด”

______________________________

หนับ  เป็นเสียงลูกฆ้องใหญ่ เมื่อผู้บรรเลงเอาไม้ตีตีลงไปตรงกลางปุ่มลูกฆ้องแล้วกดห้ามเสียงไว้ทันที

______________________________

หน้าทับ คือลีลาของการตีเครื่องหนังจำพวกที่เลียนเสียงมาจาก “ทับ” เช่น ตะโพน กลองแขก สองหน้า  โทนรำมะนา เป็นต้น ลีลาที่เครื่องหนังเหล่านี้ตีประกอบจังหวะเพลงต่างๆ เรียกว่า “หน้าทับ” เช่น หน้าทับปรบไก่ หน้าทับสองไม้ หน้าทับสดายงค์ หน้าทับขึ้นม้า หน้าทับลงสรง เป็นต้น

                ต่อมาในสมัยหลังๆ ได้มีเครื่องหนังตีประกอบจังหวะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเครื่องหนังเหล่านี้ส่วนมากก็เลียนเสียงมาจากทับแทบทั้งส้น ด้วยเหตุนี้ลีลาหรือเพลงของเครื่องหนังที่เลียนเสียงมาจากทับนี้จึงเรียกกันว่า “หน้าทับ” ตามของเก่าไปด้วย ไม่เรียกว่า “หน้าตะโพน” หรือ “หน้ากลองแขก” ฯลฯ ตามชนิดของเครื่องดนตรีแต่ละอย่าง

______________________________

หน้าพาทย์ คือเพลงที่ใช้ประกอบอากัปกิริยาของตัวโขนละคร และกิริยาสมมุติต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพลงที่ประกอบอาการของวัตถุหรือสภาพธรรมชาติต่างๆ ก็นับว่าเป็นเพลงหน้าพาทย์เหมือนกัน เช่น เพลง “รัวลูกไม้หล่น” ใช้ประกอบอาการที่ลูกไม้หล่นจากต้น เป็นต้น

______________________________

หลบ  คือ วิธีการร้องหรือบรรเลงดนตรีที่ดำเนินทำนองโดยลดจากเสียงสูงลงมาต่ำหรือขึ้นจากเสียงต่ำไปยังเสียงสูง เรียกเต็มๆว่า “หลบเสียง”

                นักดนตรี เช่น ตีระนาดกลอนลงเสียงต่ำเรื่อยๆ จนทำท่าว่าจะหมดลูกทางต่ำ (คือไม่มีลูกจะตี) แล้วจู่ๆจะหลบกลับไปทางด้านเสียงสูงทันทีนั้นไม่ได้ จะต้องคิดหาทำนองให้สารถตีหวนกลบเข้าไปหาเสียงสูงโดยคนฟังจับไม่ได้  จึงจะเรียกว่าใช้ได้

______________________________

หลุม ฆ้องวงใหญ่นั้นระดับเสียงของลูกทางต่ำเป็นสเกล ๕ เสียง แต่ลูกทางสูงเป็นสเกล ๗ เสียง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีการข้ามเสียงในระหว่างลูกที่ ๓ กับ ๔ จุดหนึ่ง กับในระหว่างลูกที่ ๕ กับ ๖ อีกจุดหนึ่ง จุดที่มีการข้ามเสียงนี้ นักดนตรีเรียกว่า “หลุม” เพราะถ้าเอาปี่พาทย์มอญไปเล่นเพลงไทยที่มี ๗ เสียงแล้ว เมื่อบรรเลงเสียงในระดับต่ำก็จะตกหลุมทันที เพราะเสียงในระดับต่ำมีไม่ครบ ๗ เสียง ด้วยเหตุนี้นักดนตรีที่มีความสามารถจึงต้องพยายาม “หลบ” ขึ้นสูงเพื่อไม่ให้ “ตกหลุม” ดังกล่าว

______________________________

หวาน เป็นคำที่ใช้คู่กับ “เก็บ” เช่นเดียวกับ “โอด” เป็นคำคู่กับ “พัน” ฉะนั้นคำว่า “หวาน” หรือ “ทางหวาน” นี้ จึงใช้กับท่วงทำนองที่แปลลูกฆ้องออกมาเป็นทางกรอให้ฟังหวานซาบซึ้ง (โดยมาใช้กับทางเดี่ยว) ซึ่งเที่ยวแรกทำเป็นทางหวานส่วนเที่ยวหลังทำเป็นทางเก็บ) ตรงกันข้ามกับทางเก็บซึ่งบรรเลงเป็นลูกถี่ๆ เรื่อยไป (ดูคำว่า “เก็บ”)

______________________________

หางเครื่อง  คำว่า “หางเครื่อง” นี้อันที่จริงหมายถึงพวกตัวรำที่แต่งตัวสีฉูดฉาดออกมารำตามเพลง “ลูกบท” ที่ออกต่อท้ายจากเพลงใหญ่หรือเพลง “แม่บท” (โปรดดูคำว่า “ลูกบท”) แต่ในปัจจุบันนี้หางเครื่องรำพวกนั้นไม่มีแล้ว (ไปมีอยู่ที่วงลูกทุ่งแทน) ฉะนั้นนักดนตรีส่วนมากจึงใช้คำว่า “หางเครื่อง” นี้แทนคำว่า “เพลงลูกบท” ไปเสียเลย

______________________________

เหลื่อม  ดูคำว่า “ล่วงหน้า”

______________________________

แหนะ เป็นเสียงลูกฆ้องใหญ่ เมื่อผู้บรรเลงใช้ไม้ตีกดลงไปบนปุ่มลูกฆ้อง ให้เอียงประมาณ ๔๕ องศาทางด้านหน้า (ไม่ใช่ตีกดลงไปตรงๆ ถ้าทำอย่างนั้นจะเกิดเป็นเสียง “หนับ” ไม่ใช่ “แหนะ”)

______________________________

แหวว หมายถึงลูกฆ้องที่มีเสียงครางเป็นคนละเสียงจริง จนจับไม่ได้ว่าเสียงที่จริงของมันคืออะไรกันแน่ ลูกฆ้องที่มีเสียง “แหวว” นี้จะเทียบเสียงได้ยากมาก เพราะไม่รู้ว่าอันไหนเป็นเสียงจริง อันไหนเป็นเสียงคราง ผืนระนาดเอกบางผืนก็ “แหวว” เหมือนกันเพราะฟังใกล้ๆก็เพราะดี แต่พอไกลออกไปหน่อยมัน “แหวว” หมด ฟังเสียง “แก๊กๆ” ไม่เป็นรส

______________________________

โหน คือวิธีการที่ปี่เป่าเป็นเสียงยาวติดต่อกันไปในช่วงหนึ่งเรียกเต็มๆว่า “เป่าโหน” การเป่าโหนนี้ถ้าทำให้เหมาะสมแล้จะทำให้ดนตรีฟังไพเราะขึ้นมาก เพราะเท่ากับเป็นการสนับสนุนลูกเก็บให้ดีเด่นขึ้นนั่นเอง

______________________________

ไหว หมายถึง การบรรเลงให้เสียงดนตรีหลาย ๆ เสียงที่ติดต่อกันนั้น มีระยะถี่และในจังหวะ เร็ว หากทำได้ถี่และเร็วมาก ก็เรียกว่าไหวมาก

คำศัพท์หมวด ส


สง  เป็นวิธีตีระนาดอย่างหนึ่งซึ่งผู้ตีใช้ไม้ระนาดตีลงไปบนลูกระนาดอย่างยั้งๆ โดยใช้กล้ามเนื้อแขนดึงไว้ ไม่ฟาดโครมลงไป อาการอย่างนี้เรียกว่า “สง” หรือ “ตีสง”

______________________________

ส่ง คำนี้มีความหมายเป็น ๒ กรณี คือ
      ๑) หมายถึงวิธีการร้องอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ร้องร้องขึ้นมาก่อน เมื่อร้องจบแล้ว ดนตรีจึงบรรเลงรับไปตามเนื้อเพลงอันเดียวกับที่ร้องนั้น วิธีอย่างนี้เรียกว่า “ร้องส่ง” ซึ่งมักจะใช้สำหรับร้องเพลง ๓ ชั้น หรือเพลงเถาเสียเป็นส่นใหญ่ นอกจา “ร้องส่ง” แล้ว ยังมี “ร้องคลอ” “ร้องลำลอง” และ “ร้องเคล้า” อีกด้วย (โปรดดูคำว่า คลอ ลำลอง และเคล้า)
      ๒) หมายถึงวิธีการที่นักดนตรีบรรเลงเพลงท่อนแรกจบ และทอดให้ร้องแล้ว แต่เพื่อเป็นการนำทางให้คนร้อง ร้องท่อนต่อไปได้สะดวก จึงนำเอาตอนหัวของท่อนต่อไป มาบรรเลงชาๆ เป็นทางร้องนำไปหน่อยหนึ่ง วิธีการเช่นนี้เรียกว่า “ส่งทางเสียง”

              การ “ส่งทางเสียง” นี้เท่ากับเป็นการแนะแนวทางให้คนร้องทราบว่า ท่อนต่อไปร้องขึ้นต้นว่าอย่างไร ซึ่งก็มีอยู่บ่อยๆที่คนร้องจำทำนองท่อนต่อไปไม่ได้ แต่พอได้ยินหางเสียงที่นักดนตรีนำทางมาเท่านั้น ก็สามารถฉวยหางเสียงมาร้องต่อไปได้อย่างสนิทสนม

______________________________

สร้อย  มีความหมาย ๒ กรณี คือ

๑)    เป็นทำนองร้องหรือดนตรีที่ประกอบเข้าไปกับเนื้อเพลงเพื่อให้ฟังเร้าอารมณ์ขึ้น (ทำนองเดียวกับ “ดอก”) เพลงพวกนี้มักใช้ร้องหรือบรรเลง (แต่โดยมากก็มีทั้งร้องและบรรเลงประกอบกันไป) ในเวลาที่จะต้องลาจากกันเพื่อแสดงถึงความห่วงใยอะไรทำนองนี้ ตัวอย่างเช่น เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง เป็นต้น เพลงนี้เนื้อเพลงมีนิดเดียว แต่ทางร้องนั้นท่านได้ต่อสร้อยเป็นภาษาไทยบ้าง มอญบ้าง เข้าไปยาวเหยียด นอกจากสร้ายแล้ว ยังมี “ดอก” ต่อท้ายอีกด้วย (โปรดดูคำว่า “ดอก”)

๒)    เป็นทำนองตอนหนึ่งของเพลงซึ่งใช้ร้องหรือบรรเลงสลับกับเนื้อ ส่วนที่ดำเนินเรื่องนั้น คือ “เนื้อ” ของเพลง ส่วนที่เป็น “สร้อย” เพียงแต่ประกอบเข้าไปให้เร้าอารมณ์เท่านั้น ทั้งนี้เพราะสร้อยจะมีเนื้อร้องอย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คงเปลี่ยนแต่เนื้อเท่านั้น ถ้าเป็นเพลงด้นจะด้นเฉพาะตรงเนื้อพอจบเนื้อแล้วลูกคู่จึงจะรับสร้อยพร้อมกัน เมื่อสร้อยจบก็ด้นเนื้อต่อไปอีก ทำนองเดียวกับลูกคู่ลำตัด ซึ่งจะร้องอย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลง (นอกจากจะเปลี่ยนขึ้นลูกคู่ใหม่) คงเปลี่ยนแต่เนื้อลำตัดเท่านั้น ลูกคู่เพียงแต่คอยรับเวลาเขาด้นหมดเนื้อเพื่อให้เกิดเร้าอารมณ์

______________________________

สวม เป็นวิธีการที่วงดนตรีหรือเฉพาะแต่เครื่องดนตรีอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรเลงล้ำเข้ามาในตอนท้ายของทำนองร้องก่อนที่จะร้องจบ

                การสวมร้อง นี้เป็นของจำเป็น เพราะเท่ากับเป็นสะพานเชื่อมระหว่างทางร้องซึ่งช้ากับทางรับซึ่งเร็ว ถ้าไม่มี “สวมร้อง” แล้ว ทางรับก็จะขึ้นได้ไม่สนิทสนมเพราะขาด “สะพาน” ดังกล่าว

                อนึ่งการสวมร้อง นี้เป็นเทคนิคสำคัญ คนฟังมักคอยสังเกตว่าดนตรีวงนี้สวมร้องได้สนิทสนมแค่ไหน ลูกที่นำมาใช้สวมร้องนั้นเหมาะสมแค่ไหน สวมร้องเข้าไปมากหรือน้อยเพียงไร หรือว่ากำลังพอดี เหล่านี้เป็นต้น โดยปกติการสวมร้องนั้น นักดนตรีก็เอาทำนองตอนปลายตรงที่จะร้องจบ สวมเข้าไปในร้องโดยบรรเลงเป็นทำนองเดียวกัน แต่ให้พลิกแพลงน่าฟัง จนกระทั่งร้องจบแล้วจึงใช้การสวมดังกล่าวเป็นสะพานเชื่อมกับทางรับไปเลย

______________________________

สองชั้น คือเพลงในอัตราปานกลาง มีความยาวกว่าอัตราชั้นเดียวเท่าตัว และสั้นกว่าอัตรา ๓

 ชั้นเท่าตัวเช่นกัน (โปรดดูคำว่า “ชั้นเดียว” และ “สามชั้น” ประกอบไปด้วย)

                ถ้าเทียบเป็นโน้ตสากล จังหวะ ๒/๔ แล้ว เพลง ๒ ชั้น หน้าทับปรบไก่จะมีความยาวในหน้าทับหนึ่งๆ เท่ากับ ๔ ห้องของโน้ตดังกล่าว และเพลงในหน้าทับสองไม้จะมีความยาวเพียงแค่ ๒ ห้อง (เพราะหน้าทับสองไม้สั้นกว่าหน้าทับปรบไก่เท่าตัว)

______________________________

สองไม้  เป็นชื่อของหน้าทับอย่างหนึ่ง ซึ่งมีความยาวน้อยกว่าหน้าทับปรบไก่ ๑ เท่าตัว โดยที่เป็นหน้าทับค่อนข้างสั้น จึงเหมาะสำหรับตีประกอบกับเพลงที่มีประโยคสั้นๆ หรือเพลงประเภทด้น หรือเพลงที่มีลูกพลิกแพลง เช่น เพลงประเภทลูกล้อลูกขัดต่างๆ

                ที่เรียกว่าหน้าทับ “สองไม้” นี้ ก็เห็นจะเป็นด้วยโบราณาจารย์ท่านคิดขึ้นสำหรับตีประกอบการร้องด้นแบบหนึ่งที่เรียกว่า “ด้นสองไม้” นั่นเอง การ้องด้นนี้ผู้ร้องจะด้นให้ยาวเท่าใดก็ได้ และอาจร้องพลิกแพลงไปได้ต่างๆ โดยทั่วไปเนื้อสำหรับจะด้นก็มีอยู่วรรคเดียว แต่อาศัยด้นกลับไปกลับมาจึงร้องกันได้ยาวๆ ในปัจจุบันนี้ พวกลิเกและละครนก ก็ยังนำมาใช้ร้องประกอบการแสดงในตอนที่ต้องการดำเนินเรื่องให้รวบรัด พวกเพลงพื้นเมืองต่างๆ เช่น เพลงฉ่อย เพลงพวงมาลัย พวกนี้ก็ด้นเช่นกัน

                หน้าทับ “สองไม้” นี้ท่านคิดขยายขึ้นมาจากหน้าทับเพลงเร็วซึ่งเป็นอัตราชั้นเดียวนั่นเอง เมื่อหน้าทับสองไม้ ๒ ชั้นเกิดขึ้นแล้ว ต่อไปก็เกิดอัตรา ๓ ชั้นตามขึ้นมาอีกทีหนึ่ง ฉะนั้นจึงสามารถตีประกอบจังหวะครบเป็นเถาได้

______________________________

สอด  เป็นวิธีการบรรเลงอย่างหนึ่ง ซึ่งดนตรีจะแทรกขึ้นมาในระหว่างร้องหรือในระหว่างที่เครื่องดนตรีอื่นๆหยุด วิธีการเช่นนี้เรียกว่า “สอด” ซึ่งนักดนตรีอาจจะพลิกแพลงทำขึ้นมาเอง หรือครูผู้แต่งเพลงอาจจะกำหนดให้ทำอย่างนั้นก็ได้ เช่น เพลงสาลิกาแก้ว เป็นต้น ผู้แต่งท่านกำหนดให้นักดนตรีสอดทำนองเข้าไปในระหว่างร้อง ทำให้ฟังไพเราะขึ้นมาก หรือเพลงนกสีชมพู ซึ่งผู้แต่งท่านบังคับให้ปี่เป่าเป็นเสียง “นกสีชมพูเอย” แทรกเข้าไปตอนที่เครื่องดนตรีอื่นๆหยุด ดังนี้เป็นต้น

                อย่างไรก็ตาม การ”สอด” นี้ มักเป็นเรื่องที่ผู้แต่งเพลงกำหนดมาเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนนักดนตรีคิดทำขึ้นเองนั้นมีน้อย ทั้งนี้เพราะการสอดเป็นของทำยากอยู่ ถ้าทำดีก็ดีไป ถ้าทำไม่ดีก็จะพาให้วงทั้งวงพลอยเสื่อมไปด้วย

______________________________

สะบัด คือวิธีการที่แทรกเสียงอีก ๑ พยางค์เข้ามาในลูกเก็บธรรมดา ๒ พยางค์ รวมเป็น ๓ พยางค์ถี่ๆ แล้วใช้มือพิเศษ ทำให้เกิดเสียงเสียงสะบัดขึ้นโดยเร็ว เช่น ถ้าเป็นจะเข้หรือกระจับปี่ก็ใช้ไม้ดีดดีด เข้าออกเข้า ติดกันโดยเร็ว ๓ ครั้ง ถ้าเป็นซอก็ใช้คันชัก เข้าออกเข้า ติดกัน ๓ ครั้งเช่นเดียวกัน ถ้าเป็นเครื่องตีก็สะบัดไม้ตีลงไป ๓ ครั้งติดๆกันฟังเป็นเสียง ตะระเร็ง เช่นนี้เป็นต้น

______________________________

สามชั้น คือเพลงในอัตราที่ยืดขยายขึ้นมาจาก ๒ ชั้นอีกเท่าตัว หรือยืดขยายขึ้นมาจากชั้นเดียว ๔ เท่าตัวนั่นเอง ถ้าจะเทียบกับโน้ตสากลจังหวะ ๒/๔ แล้ว เพลงประเภทหน้าทับปรบไก่จะมีความยาวหน้าทับหนึ่งๆ เท่ากับ ๘ ห้อง และถ้าเป็นหน้าทับสองไม้แล้วจะมีความยาวเท่ากับ ๔ ห้อง

                แต่เดิมเพลง ๓ ชั้น เป็นเพลงที่มีอัตราสูงที่สุด และมีความยาวมากี่สุด ตรงกันข้ามกับเพลงชั้นเดียวซึ่งมีอัตราต่ำสุด และมีความยาวน้อยที่สุด แต่ในปัจจุบันนี้ครูบาอาจารย์บางท่านได้คิดยืดขยายเพลงที่เหมาะสมบางเพลงขึ้นไปถึง ๔ ชั้น และตัดลงเป็นครึ่งชั้น ปะเหมาะเคราะห์ดีถึงเสี้ยวชั้น เช่น เพลงเขมรไทยโยค (มีตั้งแต่อัตรา ๔ ชั้น ลงมาจนถึงช้นเดียว) เพลงพราหมณ์ดีดน้ำเต้าเถา (มีตั้งแต่อัตรา ๔ ชั้นลงมาจนถึงครึ่งชั้น) ดังนี้เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ เพลง ๓ ชั้น จึงมิใช่เพลงในอัตราสูงสุดเสมอไป เพราะอาจมี ๔ ชั้นขึ้นอีกก็ได้ และเพลงชั้นเดียวก็มิใช่อัตราต่ำสุดอาจมีครึ่งชั้นหรือเสี้ยวชั้นกต่อลงไปอีกก็ได้

______________________________

ส่าย  เป็นวิธีพลิกแพลงของเครื่องหนังประเภทต่างๆ ที่ใช้หน้าทับ (หรือเลียบแบบมาจากทับ) ส่วนเครื่องหนังที่มิได้เลียนแบบมาจากทับ เช่น กลองทัดนั้น ถึงจะใช้ไม้ตีพลิกแพลงไปอย่างไร ท่านก็ไม่เรียกว่า “ส่าย” แต่เรียกว่า “เล่นไม้” แทน

                ถ้าจะถามว่า ทำไมถึงต้องส่าย? นั่นเพราะลีลาอันเป็นเนื้อแท้ๆของเครื่องหนังแต่ละหน้าทับนั้นมันสั้น คนกลองตีกลับไปกลับมาไม่กี่เที่ยวก็เบื่อ เพื่อไม่ให้เบื่อจึงต้องพลิกแพลงไป ทั้งนี้โดยยึดเนื้อแท้ของเดิมไว้เป็นหลัก คือ พลิกแพลงไปภายในกำหนดของเนื้อ มิใช่พลิกแพลงตามใจชอบ นอกจากนั้นคนกลองอาจจะพลิกแพลงหาวิธีตีให้มันสอดคล้องกับทำนองเพลง เพื่อจะได้ฟังกลมกลืนกันก็ได้ ทั้งหมดนี้เราเรียกว่า “ส่าย”ทั้งนั้น

______________________________

สี่ชั้น  โปรดดูคำว่า “สามชั้น”

คำศัพท์หมวด ค


คงแก่เรียน  หมายถึงนักดนตรีที่มีทั้งความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์มาอย่างมากมาย ใครขอให้ทำอย่างใดก็ทำได้ทั้งนั้น และใครจะขอต่อเพลงประเภทใดก็มีให้ต่อเสมอ พูดง่ายๆก็คือ ไม่จนความรู้นั่นแล

______________________________

ครวญ เป็น วิธีร้องอย่างหนึ่งซึ่งสอดแทรกเสียงเอื้อนยาว ๆ ให้มีสำเนียงครวญคร่ำรำพัน และ เสียงเอื้อนที่สอดแทรกนี้มักจะขยายให้ทำนองเพลงยาวออกไปจากปรกติ อธิบาย: เพลงที่จะแทรกทำนองครวญเข้ามานี้ ใช้เฉพาะแต่เพลงที่แสดงอารมณ์ โศกเศร้า เช่น เพลงโอ้ปี่ และเพลงร่าย (ในบทโศก) เป็น ต้น และบทร้องทำนองครวญ ก็จะต้องเป็นคำกลอนสุดท้ายของบทนั้น ซึ่งเมื่อร้องจบคำนี้แล้วปี่พาทย์ก็จะบรรเลง เพลงโอดประกอบกิริยาร้องไห้ติดต่อกันไป

______________________________

ครอบ มีความหมายเป็นการประสิทธิ์ประสาทให้ ถ้าจะเทียบกับทางการศึกษาทั่วไปก็คือ การประสาทปริญญานั่นเอง

                ในทางดุริยางค์ไทยนั้น การครอบมี ๓ ครั้ง คือ

                ครั้งที่ ๑ เป็นการครอบเพื่อให้เรียนเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงต่อไป อันนี้เท่ากับเป็นการประสาท “ปริญญาตรี” คือ เป็นการยอมรับว่า ศิษย์ผู้นั้นมีความสามารถที่จะเป็นศิลปินได้เต็มตัวแล้ว บัดนี้ต้องการศึกษาวิชาขั้นสูงขึ้น (ปริญญาโท) จึงได้ครอบให้

                ครั้งที่ ๒ เป็นการครอบเพื่ออนุมัติให้ผู้นั้นไปสั่งสอนสานุศิษย์อื่นๆได้ต่อไป การครอบครั้งนี้เรียกกันทั่วๆไปว่า “มอบไม้”  คือครูจะประสิทธิ์ประสาทพร้องทั้งมอบไม้ตีเครื่องดนตรีต่างๆให้ เป็นเครื่องหมายว่า บัดนี้ศิษย์จะเป็นครูที่สมบูรณ์ และสามารถจะสั่งสอนสานุศิษย์ด้วยเครื่องดนตรีตามที่มอบให้นั้นได้  แต่จะเอาเครื่องดนตรีอื่นที่ยังไม่ได้มอบไปสอนไม่ได้ เช่น มอบไม้ตีระนาดและฆ้องทั้งหมดให้ ศิษย์ก็จะสอนได้เฉพาะแต่ระนาดกับฆ้องเท่านั้น จะไปสอนตะโพนหรือเครื่องดนตรีอื่นๆที่ยังมิได้รับมอบไม่ได้

                การครอบครั้งนี้เทียบได้กับการประสาท “ปริญญาโท” คือครูเห็นว่าศิษย์มีความดี และมีความพากเพียรจนสามารถเรียนเพลงชั้นสูงได้เกือบครบถ้วนกระบวนความ จึงได้มอบ “ความเป็นครู”  ให้แก่ศิษย์ผู้นั้น

                ครั้งที่ ๓ เป็นการครอบเพื่อให้ศิษย์ผู้นั้นสามารถอ่านโองการประกอบพิธีไหว้ครูแทนตัวครูต่อไปได้ ถ้าจะเทียบก็เท่ากับเป็นการประสาท “ปริญญาเอก” ในทางดนตรีให้แก่ศิษย์นั่นเอง

                การครอบครั้งสุดท้ายนี้ครูจะต้องระวังมาก คือ จะต้องเลือกเฟ้นครอบให้เฉพาะแก่ศิษย์ที่สมควรจริงๆหลักสำคัญที่ครูจะพิจารณาก็คือ

ก)      วัยวุฒิ การที่จะได้รับมอบโองการนั้น ศิษย์ควรต้องมีวัยวุฒิพอสมควร มิฉะนั้นก็จะยังไม่เป็นที่นับถือของคนทั่วไป ศิษย์บางคนถึงจะมีวิชาเก่งกล้าสามารถแต่มีอายุแค่ ๒๐ ปี อย่างนี้ก็คงไปไม่ไหว ฉะนั้นท่านจึงตั้งเป็นหลักไว้เลยว่า ผู้ที่จะได้รับมอบโองการต้องมีอายุตั้งแต่ ๓๕ ปีขึ้นไป

ข)      คุณวุฒิ ผู้ที่ได้รับมอบจะต้องมีวิชาความรู้ในทางดนตรีอยู่ในชั้นสูงเยี่ยม คือ รู้เพลงเรื่อง เพลงหน้าพาทย์ และอื่นๆ แทบจะไม่มีขาดตกบกพร่อง ทั้งนี้เพราะถ้าผู้ที่อ่านโองการเล่นหน้าพาทย์ไม่ได้ จะไปเรียกให้ปี่พาทย์ทำแพลงหน้าพาทย์นั้นประกอบพิธีไหว้ครูไม่ได้เป็นอันขาด ด้วยเหตุนี้ทางที่ดีที่สุด ต้องรู้หน้าพาทย์เสียให้มันครบถ้วนกระบวนความ

ค)      เจริญวุฒิ ถึงแม้จะมีความรู้ดีเยี่ยม และมีวัยอันสมควรแก่การที่จะอ่านโองการการประกอบพิธีไหว้ครูได้แล้วก็ตาม แต่ถ้าศิษย์ผู้นั้นยังมีความประพฤติไม่สมควร ครูก็จะยังไม่ “ครอบ” ให้ เพราะการที่เอาโองการอันศักดิ์สิทธิ์ไปครอบให้แก่คนเลวนั้น ย่อมเป็นการไม่สมควรอย่างบิ่ง ในกรณีเช่นนี้ครูจะหมั่นอบรมส่งสอนให้ประพฤติตนอยู่ในกรอบแห่งธรรม เมื่อครูแน่ใจว่ามีความประพฤติดีจริงๆแล้ว จึงจะทำพิธี “ครอบ” และมอบโองการให้

______________________________

คร่อม คือ การบรรเลงทำนองหรือบรรเลงเครื่องประกอบจังหวะ หรือร้องดำเนินไปโดยไม่ ตรงกับจังหวะที่ถูกต้อง เสียงที่ควรจะตกลงตรงจังหวะกลายเป็นตกลงในระหว่าง จังหวะซึ่งกระทำไปโดยไม่มีเจตนา และถือว่าเป็นการกระทำที่ผิด เรียกอย่างเต็มว่า “คร่อมจังหวะ”

______________________________

ครั่น เป็นวิธีที่ทำให้เสียงสะดุดสะเทือน เพื่อความไพเราะเหมาะสมกับทำนองเพลงบางตอน อธิบาย : การ ทำเสียงให้สะดุดและสะเทือนที่เรียกว่าครั่นนี้ ใช้เฉพาะกับการขับร้อง หรือเครื่องดนตรีประเภทเป่า เช่น ปี่ ขลุ่ย และเครื่องดนตรีประเภทสี เช่น ซอต่าง ๆ เท่านั้น การขับร้องคั่นด้วยคอ เครื่องดนตรีประเภทเป่า ครั่นด้วยลมจากลำคอและเครื่อง ดนตรีประเภทสีครั่นด้วยคันสี (หรือคันชัก)

______________________________

ครึ่งชั้น เป็นเพลงในอัตราที่ตัดลงมาจากชั้นเดียวอีกเท่าตัว ตามปกติเพลงจะมีอัตรา ๓ ชั้น ๒ ชั้น และชั้นเดียว โดย ๒ ชั้นตัดครึ่งลงมาจากอัตรา ๓ ชั้นและชั้นเดียวตัดครึ่งลงมาจากอัตรา ๒ ชั้น ต่อมามีผู้นิยมตัดครึ่งจากอัตราชั้นเดียวลงมาอีกทีหนึ่ง เพลงในอัตราใหม่นี้จึงเรียกว่าเพลง “ครึ่งชั้น”

            ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราจะพูดว่าเพลงชั้นเดียวยืดขยายเป็นทวีคูณขึ้นมาจากอัตราครึ่งชั้น และเพลง ๒ ชั้น กับ ๓ ชั้น ยืดขยายเป็นทวีคูณขึ้นมาจากเพลงในอัตราชั้นเดียว และ ๒ ชั้นตามลำดับก็ย่อมได้ ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ได้มีผู้คิดอ่านยืดขยายเพลงในอัตรา ๓ ชั้น ขึ้นไปอีกเท่าตัว จึงเกิดเป็นอัตราใหม่ขึ้นอีกอัตราหนึ่ง ได้แก่เพลงในอัตรา “๔ ชั้น” (โปรดดูคำว่า “สี่ชั้น” ประกอบไปด้วย)

______________________________

ครู ในทางดนตรีคำว่า “ครู” มิได้หมายถึงมนุษย์ธรรมดาที่สั่งสอนวิชาดนตรีให้แก่ศิษย์เท่านั้น หากยังหมายรวมถึงครูที่เป็นเทพ พรหม ฤษี และอสูรอีด้วย เช่น พระนารายณ์ พระอิศวร พระคเณศ พระปัญจสิงขร พระประคนธรรพ พระวิษณุกรรม พระครูพิราพ และพระฤษีทั้ง ๗ พระองค์ เป็นต้น เหล่านี้นับเป็น “ครู” ทางดนตรีทั้งนั้น

______________________________

ครูพักลักจำ  หมายถึงครูที่เราแอบไปจำเอาของของท่านมา ไม่ว่าจะจำทางหรือจำวิธีปฏิบัติเป็นพิเศษ หรือจำลูกเด็ดๆอะไรของท่านมาก็ตาม ถือว่าท่านเป็นครูพักลักจำทั้งสิ้น ในการไหว้ครูเราก็ต้องนึกถึงครูเหล่านี้ด้วยเช่นเดียวกัน

______________________________

คลอ เป็น การบรรเลงดนตรีไปพร้อม ๆ กับการร้องเพลง โดยดำเนินทำนองเป็นอย่างเดียวกัน คือ บรรเลงไปตามทางร้อง เช่น ซอสามสายสีคลอไปกับเสียงร้อง เป็นต้น เปรียบเทียบ ก็เหมือนคน ๒ คนเดินคลอกันไป       เคล้า เป็นการบรรเลงดนตรีไปพร้อม ๆ กับการร้องเพลง (เช่นเดียวกับคลอ ดูคำว่า คลอ) โดย เพลงเดียวกัน แต่ต่างก็ดำเนินทำนองไปตามทางของตน คือร้องก็ดำเนินไปตามทางร้อง ดนตรีก็ดำเนินไปตามทางดนตรี ยึดถือแต่เนื้อเพลง จังหวะ และเสียงที่ตกจังหวะ (หน้าทับ) เท่านั้น เช่น การร้องเพลงทะแย ๒ ชั้น ในตับพรหมาสตร์ที่มีบทว่า “ช้างเอย ช้างนิมิต เหมือนไม่ผิดช้างมัฆวาน ฯลฯ” ซึ่ง คนร้องดำเนินทำนองไปอย่างหนึ่ง ดนตรี ก็ดำเนินทำนองไปอีกอย่างหนึ่ง แต่ก็เป็นเพลงทะแยที่ ร้องและบรรเลงไปพร้อม ๆ กัน เทียบได้กับการคลุกเคล้าปรุงรสอาหารให้รสเปรี้ยวเค็มเข้าผสมผสานกันให้โอชา รส วิธีการเช่นนี้บางท่านเรียกว่า “คลอ”

 ______________________________

ควง คำนี้ถ้าเป็นนามก็หมายถึง “เสียงควง” ถ้าเป็นการก็หมายถึงการ “ควงนิ้ว” เพื่อให้เกิดเสียงควงดังกล่าว

                เฉพาะเครื่องดนตรีที่ใช้นิ้ว เช่น ปี่ ซอ และขลุ่ยต่างๆ เท่านั้น ที่จะทำ “เสียงควง” ได้ เครื่องดนตรีอื่นๆทำไม่ได้ หรือทำได้ก็ยากเต็มที ที่เรียกว่า “เสียงควง” นี้ก็คือ เสียงเลียนกัน นั่นเอง เสียงดังกล่าวนี้ความจริงเป็นเสียงเดียวกัน แต่เกิดจากการใช้นิ้วที่ไม่เหมือนกัน เช่น สีซอด้วงสายเอกเปล่าตามปกติเป็นเสียง “เร” หรือจะสีสายทุ้งโดยปิดหมด ๔ นิ้วก็เป็นเสียง “เร” เหมือนกัน แต่สำเนียงต่างกันไปทีเดียว ดังนี้เป็นต้น หรือการที่ปี่เป่าเป็นเสียง “ตือฮือ” “แต-แฮ” พวกนี้ก็ถือเป็น “เสียงควง” เหมือนกันทั้งสิ้น

                เสียงควงจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ ปิดเปิดนิ้วตามปกติครั้งหนึ่งและปิดเปิดนิ้วอย่างอื่นให้ผิดไปจากปกติ แต่ได้เสียงเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง ควบคู่กันไปอย่างน้อย ๑ คู่ (เช่น ตือฮือ) หรือจะมากกว่า  ๑ คู่ (เช่น ตือ-หื่อ ตือ-ฮือ ตื้อ-ฮื้อ) ก็ได้ อาการที่ปิดเปิดนิ้วให้เป็นเสียง “ควง” นี้ท่านเรียกว่า “ควงนิ้ว”

______________________________

คันชักเกิด  หมายถึงการสีซอโดยดึงคันชักออกมา สมัยนี้มักเรียกกันว่า “คันชักออก”

______________________________

คันชักดับ หมายถึงการสีซอโดยส่งคันชักเข้าไป สมัยนี้มักเรียกว่า “คันชักเข้า”          

                เพลงไทยทั้งหลายนั้น เมื่อเริ่มต้นจะต้องสี “คันชักออก” เสมอ ฉะนั้นคันชักนี้จึงเป็น “คันชักเกิด” และเมื่อจบวรรคหนึ่งหรือจบเพลงลงแล้ว จะต้องสี “คันชักเข้า” เสมอ ฉะนั้นคันชักนี้จึงเป็น “คันชักดับ” ซึ่งแสดงว่าหมดคันชักแล้ว หากจะเริ่มต่อต้องไปสี “คันชักเกิด”

______________________________

คาบลูกคาบดอก เป็นวิธีบรรเลงเพลงอย่างหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยการ “เก็บ”  และ “รัว”  สลับกันไป ซึ่งโดยมากก็เป็นทางเดี่ยวเฉพาะของระนาดเอกเท่านั้น เครื่องดนตรีอื่นๆ ถึงจะทำ “คาบลูกคาบดอก” ได้ก็ไม่น่าฟังเท่าใดนัก

                ที่เรียกว่า “คาบลูกคาบดอก” นี้ คงหมายถึงว่า “เก็บ” นั้นเป็นลูก ส่วน “รัว” เป็นดอก เมื่อเอาทั้งเก็บและรัวมาบรรเลงสลับกันไป จึงเรียกว่าทาง “คาบลูกคาบดอก”

______________________________

คุ่ม ในการดีดจะเข้นั้น ท่านใช้เฉพาะนิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง กดสะบัดกันลงไปบนสาย (เว้นแต่สายลวดจึงจะใช้นิ้วหัวแม่มือเข้าช่วย) การกดนี้ถ้าวางนิ้วราบลงไปก็ดูไม่สวย จำเป็นต้องวางนิ้วในลักษณะโค้งให้ปลายนิ้วลงไปกดบนสายจึงจะดูสง่าและสวยงาม อาการเช่นนี้ที่ท่านเรียกว่า “คุ่ม” เรียกเป็นนามว่า “นิ้วคุ่ม”

______________________________

คู่ หมายความถึง เสียงที่เป็นคู่หรือ ๒ เสียง โดยทั่วไปหมายถึงคู่ที่เป็นมือฆ้องซึ่งอาจจะเป็นคู่ ๒ คู่ ๓ เรื่อยขึ้นไปถึงคู่ ๖ และคู่ ๘ คงเว้นแต่เฉพาะคู่ ๗ เท่านั้นที่ไม่มีใครใช้ แปลว่าภายในคู่ ๘ นั้น เราจะจัดให้มีคู่เสียงประสานกันอย่างไรก็ได้ ยกเว้นคู่ ๗ แล้วเป็นใช้ได้ทั้งนั้น ขอแต่ใช้ให้เหมาะสมเป็นใช้ได้

                คู่เสียงนี้จะบรรเลงให้ดังพร้อมกัน หรือดังคนละทีก็ได้ แต่ส่วนมากก็มักจะบรรเลงให้ดังพร้อมกันเป็นคู่ระสานอนึ่งที่เรียกว่าคู่เสียงเท่านั้นเท่านี้ หมายถึงว่าเรานับจากมือซ้ายที่กำลังตีอยู่ไปถึงมือขวาที่กำลังตีเช่นกัน เช่น มือซ้ายอยู่ห่างจากมือขวา ๕ เสียงก็เรียกว่า “คู่ ๕” ดังนี้เป็นต้น

                โดยปกติระนาดจะบรรเลงเก็บเป็นคู่ ­๘ แต่ในเพลงสมัยใหม่นี้ ท่านทำหนทางให้ระนาดเอกบรรเลงเป็นคู่ต่างๆได้หลายคู่ เช่นเดียวกับฆ้องวงเหมือนกัน

______________________________

เคล้า คือการบรรเลงดนตรีทั้งวงหรือเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ควบคู่ไปกับการร้องเช่นเดียวกับการ “คลอ” ผิดกันแต่ว่าการ “เคล้า” นี้ นักร้องและนักดนตรีต่างดำเนินทางของตนเป็นอิสระ คือ นักร้องก็ร้องของตนไป นักดนตรีก็บรรเลงไป โดยไม่ต้องกลัวว่าลูกตกจะลงกันหรือไม่ ฉะนั้นอาจจะบรรเลงไปคนละเพลงกับที่คนร้องกำลังร้องก็ได้ ขออย่างเดียวให้ระดับเสียงของทางร้องกับทางดนตรีตรงกัน และให้ทำนองของทั้งสองฝ่ายฟังกลมกลืนกันเป็นใช้ได้

                ตัวอย่างของการ “ร้องเคล้า” ก็เช่นเพลง “เห่เชิดฉิ่ง” ในเพลงตับเรื่องรามเกียรติ์ ตอนอินทรชิตแผลงศรนาคบาศ เป็นต้น เพลงนี้คนร้องเป็นทำนองเห่ แต่นักดนตรีกลับบรรเลงเป็นเพลงเชิดฉิ่งคู่กันไป ซึ่งความจริงเป็นคนละเพลงทีเดียว แต่โดยที่ระดับเสียงมันตรงกันและทำนองของทั้งสองเพลงมันกลมกลืนกันได้สนิทดี การผสมผสานระหว่างทางร้องกับทางดนตรีจึงทำให้เกิดความไพเราะเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก

                           

คำศัพท์หมวด จ


จ๋ง เป็นเสียงโทนมโหรี หรือเสียงหน้าลุ่ยของกลองแขกตัวเมีย ที่ผู้ตีใช้นิ้วตีลงไปบนหนังที่ชิดกับขอบ บางคนฟังเป็นเสียง “น้ง” ก็มี

______________________________

จน หมายถึงการที่นักดนตรีบรรเลงเพลงอันถูกต้องที่เขาประสงค์ไม่ได้ อธิบาย : เพลง ที่นักดนตรีจำจะต้องบรรเลงให้ถูกต้องตามความประสงค์นั้น หลายอย่าง เป็นต้นว่านักร้องเขาส่งเพลงอะไรนักดนตรีก็ต้องบรรเลงรับด้วย เพลงนั้น หรือเมื่อคนพากย์เจรจา หรือคนบอกบทเขาบอกให้บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ อะไร นักดนตรีก็ต้องบรรเลงเพลงนั้น ถ้าหากนักดนตรีบรรเลงเพลงให้ตรงกับที่นักร้อง เขาร้องไม่ได้ หรือบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ตามที่คนพากย์เจรจา หรือคนบอกบทเขาบอกไม่ได้ จะเป็นนิ่งเงียบอยู่หรือบรรเลงไปโดยกล้อมแกล้มหรือบรรเลงไปเป็นเพลง อื่นก็ตาม ถือว่า “จน” ทั้งสิ้น

______________________________

จอด  หมายความว่าการบรรเลงนั้นไปไม่รอด ต้องล้มเลิกกลางคัน บางทีแถมเติมเป็นว่า “จอดไม่ต้องแจว”

______________________________

จ๊ะ เป็นเสียงรำมะนามโหรี ที่ผู้ตีใช้นิ้วตีกดลงบนบริเวณกึ่งกลางหน้าหนัง หรือเป็นเสียงหน้าต่านของกลองแขก ผู้ที่ตีลงบนหน้ากลองใกล้กับขอบกลอง โดยตีแล้วยกมือขึ้นทันที เพื่อให้เสียงดังกังวาน

______________________________

จังหวะ คือการดำเนินทำนอเพลงด้วยเวลาอันสม่ำเสมอ ทำนองเพลงนั้นอาจแบ่งเป็นส่วนย่อยๆ โดยแต่ละส่วนดำเนินไปด้วยเวลาอันสม่ำเสมอ               

                เครื่องบังคับจังหวะส่วนย่อยที่สุด ก็คือ “ฉิ่ง” ยาวขึ้นมาหน่อยคือ กรับ กับ โหม่ง และยาวที่สุดคือหน้าทับกลองประเภทต่างๆ การดำเนินทำนองเพลงทุกชนิดจะต้องอยู่ภายในเวลาที่เครื่องประกอบจังหวะเหล่านี้กำหนด ถ้าพลาดไปก็เรียกว่า “คร่อม” หรือ “คร่อมจังหวะ”

              โดยทั่วไป จังหวะที่ใช้อยู่ในวงการดนตรีไทยมี ๔ อย่าง คือ

๑)     จังหวะฉิ่ง ใช้ประกอบจังหวะในระยะสั้น โดยแบ่งจังหวะด้วยเสียง “ฉิ่ง” และ “ฉับ” “ฉิ่ง” นั้นเป็นเสียงที่ลงจังหวะเบา ส่วน “ฉับ” นั้นลงจังหวะหนัก

               โดยปกติจะตีฉิ่งเป็นเสียง “ฉิ่ง” และ “ฉับ” สลับกันไปเสมอ เร็วบ้างช้าบ้างแล้วแต่อัตราของเพลง เช่น เพลงในอัตรา ๓ ชั้นก็ดีช้ากว่าอัตรา ๒ ชั้นเท่าตัว ดังนี้เป็นต้น แต่มีหลายกรณีที่จะต้องตีฉิ่งให้แปลกออกไป เช่น เพลงสำเนียงจีนหรือญวน จะต้องตีเป็นเสียง “ฉิ่ง ฉิ่ง ฉับ”  เพลงะเชิดหรือเพลงกราวตีแต่เสียง “ฉิ่ง” อย่างเดียว ถ้าเชิดจีนก็ดีแต่  “ฉับ” อย่างเดียว เว้นแต่ตอนออกเชิดตอนท้ายจึงมีแต่ “ฉิ่ง” อย่างเดียว

                ยังมีจังหวะฉิ่งที่ใช้เป็นพิเศษอีก เช่น มีการรวบหรือตีฉิ่งให้กระชั้นในตอนท้ายของแต่ละวรรค ซึ่งสำหรับคนหัดใหม่แล้ว ตียากไม่ใช่เล่น เพลงที่จะต้องตีฉิ่งในลักษณะนี้ เช่น ขมตลาด โอ้โลม โอ้ชาตรี เป็นต้น

                ที่ต้องตีฉิ่งรวบหรือกระชั้นในตอนท้ายวรรค ก็เพราะเพลงเหล่านี้มีวรรคละ ๓ จังหวะครึ่ง มิได้มีครบ ๔ จังหวะ เหมือนเพลงธรรมดาทั่วไป

๒)     จังหวะกรับและโหม่ง จังหวะพวกนี้ใช้วัดระยะในขนาดปานกลาง เช่น พอฉิ่งลงเสียงฉับก็ตีกรับลงไปเสียทีหนึ่ง เป็นเชิงบอกว่า “เออ เจ้าฉิ่งเอ๋ย เอ็งตีแม่นดีแล้ว”  พอฉิ่งตีได้สองฉับก็ลงเสียงโหม่งกำกับลงไปอีกทีหนึ่ง

๓)     จังหวะหน้าทับ อันนี้เป็นการวัดจังหวะในระยะยาว เพื่อเป็นการตรวจสอบครั้งสุดท้ายว่าเจ้าพวก ฉิ่ง กรับ และโหม่งนั้น ได้วัดระยะสั้นและระยะกลางมาอย่างถูกจริงๆ เมื่อตีหน้าทับจบไปเที่ยวหนึ่ง ก็ถือว่าเพลงได้ดำเนินไป  ๑ จังหวะแล้ว ถ้าเพลงนี้มี ๔ จังหวะปรบไก่ ก็หมายความว่าตีหน้าทับปรบไก่กลับไปกลับมาได้ ๔ เที่ยวก็จบเพลงพอดี

เรื่องของหน้าทับมีมาก ควรดูคำว่า “หน้าทับ” ประกอบ ในที่นี้ให้เข้าใจว่า ฉิ่งใช้วัดจังหวะในระยะสั้น กรับและโหม่งวัดปานกลาง ส่วนหน้าทับวัดในระยะยาว คือวัดทีหนึ่งก็หมดวรรคไปเลย เป็นการทดสอบให้แน่ใจว่า ฉิ่ง กรับ โหม่ง ได้กำกับเวลามาอย่างสม่ำเสมอถูกต้องจริงๆ เช่น เพลงจังหวะปรบไก่สองชั้น วรรคหนึ่งมี ๔ ห้อง ฉิ่งต้องตีกำกับจังหวะทุกห้อ กรับและโหม่ง ๒ ห้องตีทีหนึ่ง ส่วนหน้าทับนี้ตีทีเดียววัดได้ ๔ ห้องเย

๔)     จังหวะเพลงทั่วไป เพลงแต่ละเพลงนั้นมีจังหวะประจำว่า ควรต้องช้าหรือเร็วขนาดนั้นๆ จึงจะบรรเลงได้ไพเราะ ข้อนี้ไม่มีใครบอก แต่ผู้บรรเลงก็ควรสังเกตและรู้เอาเองว่าแค่ไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด ถ้าเราไปเล่นเพลงซึ่งควรจะช้าให้เร็วไปมันก็ไม่เพราะ

______________________________

จับ  เป็นคำที่ใช้เฉพาะเพลงเชิดนอก หมายความถึงท่อนหรือตัวนั่นเอง ตามปกติแล้วเพลงจะแบ่งออกเป็นท่อน และท่อนแบ่งออกเป็นวรรคอีกทีหนึ่ง เว้นแต่เพลงประเภทเชิด เช่น เชิดจีน เชิดฉาน เชิดฉิ่ง เชิดใน เหล่านี้ จึงจะแบ่งเป็น “ตัว”

                เพลงเชิดพิเศษที่ไม่ได้แบ่งเป็นตัว แต่แบ่งเป็นจับก็คือเพลงเชิดนอกที่กล่าวถึงนี้ เหตุที่เพลงเชิดนอกแบ่งเป็นจับก็เพราะในการเบิกโรงหนังใหญ่ด้วยการแสดงชุด “จับสิงหัวค่ำ” นั้น ปี่จะต้องเป่าเพลงเชิดนอกประกอบการรบกับระหว่างลิงขาวกับลิงดำ และในที่สุดลิงขาวก็จับลิงดำได้ และนำไปถวายพระฤษี

                การสู้รบระหว่างลิงขาวกับลิงดำนี้ คนเชิดจะนำหนังภาพการต่อสู้กันด้วยท่าต่างๆ ที่เรียกว่า “หนังจับ” ออกมา ๓ ครั้ง เมื่อเชิดออกมาแต่ละครั้งนั้น ปี่จะต้องเป่าเป็นเสียง “จับให้ติดตีให้ตาย” หรือ “ฉวยตัวให้ติตีให้แทบตาย” หรือ “ตีให้ตาย ตีให้แทบตาย”  ทำนองนี้ ซึ่งเรียกกันว่า “เป่าจับ”

               โดยที่มีการเชิดหนังจับออกมา ๓ หน และปี่ก็ต้องเป่าจับ ๓ ครั้งเช่นเดียวกัน จึงถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาว่า เพลงเชิดนอกที่ครบบริบูรณ์จะต้องมี ๓ จับ และคำว่า “จับ” ก็เลยนำมาใช้เป็นการแบ่งท่อนแทนคำว่า “ตัว” ของเพลงเชิดนอกไปเลย

______________________________

จำ  หมายความว่านักดนตรีนั้นแสดงตนเป็นคนสำคัญของวง จึงพูดกันว่า “เขาจำอยู่ในวงของนาย ก” เป็นต้น

______________________________

จืด  หมายความว่า การบรรเลงหรือการร้องครั้งนั้น ดำเนินไปอย่างเรื่อยเฉื่อยไม่เป็นรสอย่างหนึ่ง กับหมายความว่าเพลงที่บรรเลงนั้น คนอื่นเขาก็บรรเลงอยู่บ่อยๆ จนคนฟังพากันเบื่อไปแล้วอีกอย่างหนึ่ง ทั้งสองกรณีนี้เรียกว่า “จืด” ทั้งสิ้น

______________________________

เจี๊ยว  คือการบรรเลงที่ไม่ค่อยผสมผสานกลมกลืนกันเท่าใดนัก ยิ่งมีเครื่องมากแทนที่จะเกิดความไพเราะ กลับเกิดเป็นเสียงแซดฟังไม่เป็นศัพท์ อย่างนี้ท่านเรียกว่า “เจี๊ยว” หรือ “เจี๊ยวจ๊าว”

______________________________

แจว หมายถึงการบรรเลงที่ค่อนข้างเร็ว เช่น วงดนตรีวงนี้พอขึ้นเพลงได้ก็แจวอ้าวไปเลย ดังนี้เป็นต้น

 

คำศัพท์หมวด ด


ดอก คือ เพลงท่อนหนึ่งที่มักมีประจำอยู่กับเพลงจำพวกรักใคร่อาลัยลา โดยเฉพาะ “เพลงลา” ซึ่งแต่ก่อนมักบรรเลงเมื่อจะเลิกตอนสองยามแล้ว จะมีดอกแทบทุกเพลง เนื้อร้องขึ้นต้นของ “ดอก” ก็ได้แก่ดอกไม้ซึ่งเลือกเอามาจากดอกชนิดต่างๆ สรรเอามาดอกหนึ่งให้สามารถประกอบกับคำร้องอื่นๆเข้าไป ให้ฟังไพเราะซาบซึ้งกินใจเป็นใช้ได้ เช่นว่า “ดอกเอ๋ย เจ้าดอกจิก หัวใจจะพลิกเสียแล้วนี่เอย” ดังนี้เป็นต้น

______________________________

ดำน้ำ โปรดดูคำว่า “งม”

______________________________

ดึกดำบรรพ์ เป็นชื่อโรงละครของเจ้าพระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์ ตั้งอยู่ริมถนนอัษฎางค์ ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๒ ถึง๒๔๕๒ โรงนี้ใช้แสดงละครแบบ “คอนเสิร์ตเรื่อง” อย่างใหม่ แต่คนไม่รู้จะเรียกละครนี้ว่าอย่างไร ก็เลยเรียกเป็น “ละครดึงดำบรรพ์”  ตามชื่อโรงละครไปเลย หนักเข้าปี่พาทย์จัดพิเศษสำหรับบรรเลงประกอบกับละครชนิดนี้ก็เลยได้ชื่อว่า “ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์”  ตามไปด้วย

               “ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์” นี้ ท่านคัดเอาเครื่องดนตรีที่มีเสียงแหลม หรือเสียงอึกทึกครึกโครมออกเสีย คงใช้แต่เครื่องบรรเลงที่มีเสียงเย็นนุ่มหู ฟังไพเราะเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ “วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์” จึงประกอบไปด้วยระนาดเอก (ตีด้วยไม้นวม) ระนาดทุ้มไม้ และทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ซออู้ ขลุ่ย ตะโพน และกลองตะโพน (กลองทัดขนาดเล็ก เอาตะโพนสองใบมาตีแทน) กับเครื่องประกอบจังหวะที่จำเป็นเท่านั้น

______________________________

ดูด หมายถึงเสียงระนาดทุ้มที่ตีลงไปพอให้มีเสียงกังวานหน่อยก็ห้ามไว้ ฟังเป็นเสียง “ตู๊ดๆๆๆ” บางทีผู้บรรเลงตีลูกระนาดด้วยมือขวา แล้วใช้ไม้ตีในมือซ้ายห้ามเสียงไว้ก็ฟังเป็นเสียง “ดูด” ได้เหมือนกัน

______________________________

เด็ดเดี่ยว  หมายถึงคนตีระนาดเอกหรือคนซอด้วงที่มีการตัดสินใจแน่นอน ไม่พะวักพะวน จะออกเพลงอะไรก็นำไปให้เห็นชัด ไม่มีกล้อมแกล้มหรือรวนเรแต่อย่างใด คนระนาดหรือคนซอด้วงเช่นนี้ เรียกว่าเป็นคน “เด็ดเดี่ยว” จัดว่าเป็นผู้นำวงที่ดี

______________________________

เดี่ยว เป็น วิธีบรรเลงอย่างหนึ่งที่ใช้เครื่องดนตรีจำพวกดำเนินทำนองเช่น ระนาด ฆ้องวง จะเข้ ซอ บรรเลงแต่อย่างเดียว การบรรเลงเครื่องดำเนินทำนองเพียงคนเดียวที่ เรียกว่า “เดี่ยว” นี้ อาจมีเครื่องประกอบจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง โทน รำมะนา สองหน้า หรือกลองแขก บรรเลงไปด้วยก็ได้ การบรรเลงเดี่ยวอาจบรรเลงตลอดทั้งเพลงหรือแทรกอยู่ในเพลงใดเพลงหนึ่งเป็นบาง ตอนก็ได้       การบรรเลงเดี่ยวมีความประสงค์อยู่ ๓ ประการ คือ

๑. เพื่ออวดทาง คือ วิธีดำเนินทำนองของเครื่องดนตรีชนิดนั้น

๒. เพื่ออวดความแม่นยำ

๓. เพื่ออวดฝีมือ

               เพราะ ฉะนั้น การบรรเลงที่จะเรียกได้ว่าเดี่ยว จึงมิใช่จะหมายความแคบ ๆ เพียงบรรเลงคนเดียวเท่านั้น ที่จะเรียกว่าเดี่ยวได้โดยแท้จริงนั้นทาง (การดำเนินทำนอง) ก็ ควรจะให้เหมาะสมกับที่จะบรรเลงเดี่ยว เช่น มีโอดพันหรือวิธีการโลดโผนพลิกแพลง ต่าง ๆ ตามสมควรแก่เครื่องดนตรีชนิดนั้นด้วย เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ทั้ง ๓ ประการที่กล่าวมา

คำศัพท์หมวด ต


ตบ คืออาการที่คนระนาดไหวไม่ทันกับอัตราของเพลงที่กำลังวิ่งจี๋อยู่นั้น จะตีให้เต็มเสียงก็ไปไม่ไหว จะหยุดเสียก็อายจึงต้องใช้วิธีต้อนซ้ายต้อนขวาเป็นวรรคๆ ไปจนหมดเพลง วิธีการอย่างนี้เรียกว่า “ตบ” ซึ่งมี “ตบซ้าย” และ “ตยขวา” “ตบขวา” ก็คือ เอาไม้ตีระนาดตีให้เต็มเสียงลงไปในตอนแรกแล้วค่อยๆ ต้อนเสียงเบาลงไปทางขวาจนหมดวรรค ถ้าเป็น “ตบซ้าย” ก็เป็นตรงกันข้าม

______________________________

ตอด เป็นอาการที่ปี่เป่าเป็นเสียงสั้นๆเบาๆเหมือนปลาเอาปากงับอะไรเบาๆเช่นนั้น

______________________________

ตอย  คือสำเนียงของเสียง “ลา” ของปี่ใน

______________________________

ตับ  หมายถึง เพลงหลาย ๆ เพลง นำมาร้องและบรรเลงติดต่อกันไป

ซึ่งแยกออกได้เป็น ๒ ชนิด คือ

๑. ตับเรื่อง เพลงที่นำมารวมร้องและบรรเลงติดต่อกันนั้น มีบทร้องเป็นเรื่อง เดียวกัน และดำเนินไปโดยลำดับ ฟังได้ติดต่อกันเป็นเรื่องราว ส่วนทำนองเพลงจะเป็น คนละอัตรา คนละประเภท หรือลักลั่นกันอย่างไร ไม่ถือเป็นสำคัญ เช่น ตับนางลอย ตับนาคบาศ เป็นต้น

๒. ตับเพลง เพลงที่นำมารวมร้องและบรรเลงติดต่อกันนั้น เป็นทำนองเพลง ที่อยู่ในอัตราเดียวกัน (๒ ชั้น หรือ ๓ ชั้น) มี สำนวนทำนองสอดคล้องติดต่อกัน สนิทสนม ส่วนบทร้องจะมีเนื้อเรื่องอย่างไร เรื่องเดียวกันหรือไม่ถือเป็นสำคัญ เช่น ตับลมพัดชายเขา ตับเพลงยาว เป็นต้น ตับเพลงนี้บางทีก็เรียกว่า”เรื่อง” เฉพาะจำพวก เรื่องมโหรี (ดูคำว่า เรื่อง)

______________________________

ตัว  เป็นคำที่ใช้เรียกแทนคำว่าท่อนของเพลงบางประเภท (ดูคำว่า ท่อน) เพลงที่เรียก “ตัว” แทนคำว่า “ท่อน” ก็ได้แก่เพลงจำพวกตระและเชิดต่าง ๆ นอกจากเชิดนอก

______________________________

ตาย หมายถึงนักดนตรี (ซึ่งส่วนมากก็คือคนซอด้วงหรือคนระนาดเอก) ที่บรรเลง “ไหว” เกินตัว จนในที่สุดตนเองก็บรรเลงไม่ค่อยออก คือ มือไม้มันขึงพืดไปหมด อาการอย่างนี้เรียกว่า “ตาย” เช่นกล่าวว่า “นั่น ดูนั่นคนระนาดเอกกำลังจะตายแล้ว” ไม่ได้หมายความว่ากำลังจะตายไปจริงๆ แต่หมายความว่ามือไม้ม้นขึงพืด (ตาย) เร่งอย่างไรก็ไม่ออกนั่นเอง

______________________________

ติง  เป็นเสียงตะโพนไทยซึ่งผู้บรรเลงตี “หน้ามัด” (หน้าเล็ก) ด้วยอาการเปิดมือ

______________________________

ตึง  หมายถึงการบรรเลงที่ไหว (เร็ว) ถึงขนาดที่นักดนตรี (ส่วนมากหมายถึงคนระนาดเอก) เริ่มรู้สึกเกร็งมือ พูดง่ายๆก็ว่าเริ่มจะเร็วเกินขีดความสามารถของเขาที่จะตามได้ทันนั่นเอง อาการที่ว่านี้เรียกว่า “ตึง” หรือ “ตึงมือ” แต่ยังไม่ถึงกับ “ตาย” ถ้าเร็วขึ้นไปอีกหน่อยก็คงถึง “ตาย” แน่

______________________________

ตืด เป็นเสียงตะโพนไทยซึ่งผู้บรรเลตี “หน้ามัด” (หน้าเล็ก) ให้พอมีกังวานหน่อยแล้วห้ามไว้ ฟังเป็นเสียงติง-งี้ด (ฟังเร็วๆติดกันเป็น “ตืด”)

______________________________

ตือ  เป็นสำเนียง “ซอล” ของปี่ใน

______________________________

ตุ๊บ เป็นเสียงตะโฟนไทยซึ่งผู้บรรเลงตี “หน้ามัด” (หน้าเล็ก) ด้วยอาการปิดมือ คือตีแล้วประกบมือห้ามเสียงทันที

______________________________

แต เป็นสำเนียงเสียง “ที” ของปี่ใน

Previous Older Entries