พิธีไหว้ครู


พิธีไหว้ครู

ความมุ่งหมายพิธีไหว้ครู

๑. เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล ด้วยการถวายเครื่องสักการะ พลีกรรมแก่ปรมาจารย์ทั้งหลายทั้งปวง ที่มาประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่ศิษย์
๒. เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดความมั่นใจในการเรียนนาฏศิลป์เป็นอย่างดี เมื่อได้ผ่านพิธีกรรมมาแล้ว
๓. เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ หากศิษย์ได้กระทำสิ่งที่ผิดพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรมก็ตาม
๔. เพื่อไว้สำหรับต่อท่ารำที่เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงที่มีความเชื่อมาแต่ โบราณว่า เพลงหน้าพาทย์บางเพลงจะต้องต่อท่ารำในพิธีไหว้ครู จึงจะเกิดเป็นสิริมงคลทั้งแก่ผู้สอนและผู้เรียน
๕. เพื่อเป็นสิ่งเตือนสติให้ศิษย์ระลึกถึงครู อันเป็นเครื่องเตือนใจที่จะประพฤติแต่ในสิ่งที่ดีงาม อยู่ในศีลธรรมจรรยา ตั้งตนอยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์

ประโยชน์ที่ได้รับจากพิธีไหว้ครู

๑. สามารถทำให้เกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในฐานะที่เป็นศิษย์มีครูเหมือนกัน
๒. สามารถนำวิชาความรู้ที่เรียนมาไปถ่ายทอดได้ด้วยความมั่นใจโดยไม่ต้องกลัวว่า “ผิดครู”
๓. เป็นการสร้างศิษย์ให้มีความเชื่อมั่นในวิชาความรู้ที่ได้เรียนมา กล้าแสดงออกไม่เก็บตัว
๔. ทำให้มีความรู้กว้างขวางและเข้าใจในพิธีกรรมเช่นนี้อย่างชัดเจน
๕. เกิดความสบายใจหากได้ทำสิ่งใดผิดพลาดไป ก็จะได้เป็นการขอขมาครูไปด้วย

กำหนดวันและเดือนที่นิยมประกอบพิธีไหว้ครู
การ จัดพิธีไหว้ครูมีข้อกำหนดว่าให้กระทำพิธีเฉพาะวันพฤหัสบดี อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากพวกพราหมณ์ ซึ่งนับถือเทพเจ้านามพระพฤหัสบดีเป็นเทพฤทธิ์ ในฐานะปุโรหิตาจารย์ที่เคารพนับถือของพระอินทร์และเทวดาอื่นๆ จึงนิยมไหว้ครูกันในวันพฤหัสบดี มีตำนานที่ถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู นอกจากนี้ยังถือกันว่า เวลากลางวันพระพฤหัสบดีเป็นธาตุไฟ และเป็นธาตุน้ำในเวลากลางคืน เป็นดาวพระเคราะห์ที่ให้วิทยาความรู้แก่มนุษย์ เราจึงถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู เดือนที่นิยมกระทำพิธีไหว้ครู ตามแบบโบราณนิยมให้ประกอบพิธีไหว้ครูและครอบครูในเดือนคู่ เช่น เดือน ๔ เดือน ๖ เดือน ๘ เดือน ๑๐ เดือน ๑๒ และเดือนยี่ แต่มีข้อยกเว้นเดือนเดียวคือ เดือน ๙ อนุโลมให้จัดพิธีได้ เพราะถือกว่า ๙ เป็นเลขมงคลของไทยสืบมา ในบางครั้งตามคติโบราณ ยังต้องระบุจันทรคติเพิ่มขึ้นด้วย โดยพิจารณาอีกว่าตรงกับวันขึ้นแรมข้างใด จะนิยมวันพฤหัสบดีข้างขึ้น นับว่าเป็นมงคลยิ่ง เพราะข้างขึ้นถือว่าเป็น “วันฟู” เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง
การตั้งเครื่องบูชาและเครื่องสังเวย
• ที่สำหรับครูปัธยาย จัดเครื่องสังเวยของสุกและเป็นเครื่องคู่ (คือสิ่งละ ๒ ที่)
• ที่สำหรับครูดนตรีอยู่ทางขวามือ จัดเครื่องสังเวยของสุกเครื่องคู่
• ที่องค์พระพิราพทางด้านซ้ายมือ จัดเครื่องสังเวยของดิบเป็นเครื่องคู่
• ที่พระภูมิจัดเครื่องสังเวยของสุกเครื่องเดี่ยว
• ที่ตรงหน้าเครื่องปี่พาทย์วงที่ใช้บรรเลงในพิธี จัดเครื่องสังเวยของสุกเครื่องเดี่ยว
รายละเอียดเครื่องสังเวย มีดังนี้
บายศรีปากชาม
๔ คู่
หัวหมูสุก
๓ คู่
ดิบ
๑คู่
มะพร้าวอ่อน
๔ คู่
เป็ดสุก
๓ คู่
ดิบ
๑ คู่
กล้วยน้ำ
๔ คู่
ไก่สุก
๓ คู่
ดิบ
๑ คู่
ผลไม้ ๗ อย่าง
๔ คู่
กุ้งสุก
๓ คู่
ดิบ
๑ คู่
อ้อยทั้งเปลือก
๑ คู่
ปลาสุก
๓ คู่
ดิบ
๑ คู่
เผือก มัน ถั่ว งา นม เนย
๔ คู่
ปูสุก
๓ คู่
ดิบ
๑ คู่
เหล้า
๔ คู่
หัวใจ ตับ หมูดิบ
๑ คู่
เครื่องกระยาบวช
๔ คู่
ไข่ไก่ดิบ
๑ คู่
ขนมต้มแดง ขาว
๔ คู่
หมูหนาม
๔ คู่
เครื่องจิ้ม
๔ คู่
ข้าวเหนียวหน้าเนื้อ หรือมะตะบะ
๑ คู่
หมาก พลู บุหรี่ ไม้ขีดไฟ
๔ คู่
น้ำเย็น
๔ คู่
บุหรี่ กับ ชา
๔ คู่
จัด สิ่งของเหล่านี้ให้ครบไม่ขาดไม่เกิน นอกจากเครื่องบูชาและเครื่องสังเวยแล้ว ยังมีเครื่องกำนล ประกอบด้วย ขัน ๑ ใบ เงิน ๖ บาท ผ้าห่มหรือผ้าเช็ดหน้า ๑ ผืน เทียนขี้ผึ้งขาว ๓ เล่ม ดอกไม้ ธูป บุหรี่ ไม้ขีดไฟ และหมากพลู ๓ คำ ใช้ทั้งประธานในพิธีและผู้เข้าครอบครู
ขั้นตอนการไหว้ครู

๑. จัดเตรียมสถานที่และทำความสะอาดบริเวณที่จัดให้เรียบร้อย
๒. เชิญหัวโขนหรือศีรษะครู ทั้งที่เป็นเทพเจ้า เทวดา ฤาษี และคนธรรพมาประดิษฐาน เพื่อเป็นประธานตั้งไว้บนโต๊ะที่เตรียมพร้อมแล้ว
๓. นิมนต์พระภิกษุ จำนวน ๙ รูป มาทำพิธีสวดมนต์เย็นเพื่อความเป็นสิริมงคล ในบริเวณสถานที่ที่จัดไว้ในตอนเย็น และนิมนต์มาทำพิธี
sp;    อีกครั้งในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นก่อนเริ่มพิธีไหว้ครู
๔. จัดเครื่องกระยาบวช เครื่องสังเวย เครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องสังเวยจะจัดออกเป็น ๓ ชุด คือ

– ส่วนของพระมหาเทพ เทวดา นางฟ้า เป็นอาหารสุก
– ส่วนของพระครูฤาษี พระปรคนธรรพ เป็นอาหารสุก
– ส่วนของพระพิราพ ซึ่งเป็นเทพอสูร เป็นอาหารดิบ

๕. เชิญประธานจัดงานมาจุดธูปเทียนบูชาครู ครูผู้ประกอบพิธีแต่งชุดขาว อ่านโองการเชิญครูต่างๆ มาร่วมในพิธี

พิธีไหว้ครู” หมายถึง การสำรวมใจระลึกถึงพระคุณของบรมครูที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์

และพร้อมใจกันเปล่งเสียงวาจาด้วยความเคารพที่ครูผู้กระทำพิธีอ่านโองการ
๖. ดนตรีบรรเลงเพลงหน้าพาทย์แต่ละเพลงตามที่ครูผู้ประกอบพิธีจะเรียกเพลง หลังจากที่อ่านโองการเชิญครูปัธยายแต่ละองค์แล้ว
๗. ครูผู้ประกอบพิธีกล่าวถวายเครื่องเซ่นสังเวยต่างๆ ที่ได้จัดมา เสร็จแล้วกล่าวลาเครื่องเซ่นสังเวย
๘. ผู้มาร่วมงานรำถวายเพื่อบูชาครู ซึ่งนิยมรำเพลงช้า-เพลงเร็ว เพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงบางเพลง เช่น ตระนิมิตร ตระบองกัน คุกพาทย์ เป็นต้น
๙. ครูผู้ประกอบพิธี ทำพิธีครอบให้ศิษย์ที่มาร่วมงาน โดยนำศีรษะครูมาครอบให้ ๓ ศีรษะ คือ

– ศีรษะพระครูฤาษี อันเป็นสัญลักษณ์ครูทั่วไป
– ศีรษะพระพิราพ อันเป็นสัญลักษณ์ครูโขน
– ศีรษะเทริดโนห์รา อันเป็นสัญลักษณ์ครูละคร
พิธีครอบครู” หมายถึง การนำศีรษะครูมาครอบ ( รับเป็นศิษย์) และครูจะคอยควบคุมรักษา ครูจะอยู่กับศิษย์คอยช่วยเหลือให้ศิษย์มีความจำในกระบวนการรำ จังหวะดนตรี หากมีสิ่งใดที่ไม่งามจะเกิดขึ้นกับศิษย์ ครูจะช่วยปัดเป่าให้พ้นจากตัวศิษย์ ทำให้ผู้เรียนมีกำลังใจ มีความมั่นใจมากขึ้น และพิธีครอบครูนั้น ผู้ศึกษานาฏศิลป์ทุกคนถือว่าเป็นพิธีสำคัญ และจำเป็นสำหรับผู้ที่ศึกษาปฏิบัติท่ารำที่อยู่ในระดับสูง เช่น การรำเพลงหน้าพาทย์ ก่อนจะรำผู้ศึกษาจะต้องผ่านพิธีครอบครูก่อนจึงจะต่อท่ารำได้

๑๐. ลูกศิษย์นำขันกำนล มีดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าเช็ดหน้าขาว เงินกำนลครู ๒๔ บาท (อาจแตกต่างกันไป มีตั้งแต่ ๖ บาท ๑๒ บาท ๒๔ บาท หรือ ๓๖ บาท) ผู้ที่ได้รับครอบถือว่าเป็นศิษย์ที่มีครูแล้ว และในวงการนาฎศิลป์ได้รับคนผู้นี้เป็นนาฎศิลป์โดยสมบูรณ์
๑๑. ลูกศิษย์ที่จะจบออกจากสถาบันเป็นปีสุดท้าย จะเข้ารับมอบ โดยครูผู้ประกอบพิธีจะส่งศรพระขันธ์ให้กับศิษย์ผู้นั้นรับไว้ เปรียบเสมือนการขออนุญาต
เพื่อไปสอนศิษย์ต่อไป

พิธีมอบ” เป็นขั้นตอนที่สูงที่สุด หมายถึง การได้รับการมอบความรู้ความเป็นครู ผู้สืบทอดการอบรมสั่งสอนในสมัยที่ยังไม่มีปริญญาบัตรเป็นเครื่องกำหนดความ รู้ ครูผู้สอนวิชานาฏศิลป์จะพิจารณาว่า ศิษย์คนใดมีความรู้ในวิชานาฏศิลป์มีฝีมือในการรำยอดเยี่ยม จนถือเป็นแบบแผนที่ดีได้ และมีความประพฤติเรียบร้อย เหมาะสมที่จะเป็นครูสืบทอดความเป็นผู้รู้ให้กับผู้อื่นได้ต่อไป การมอบนั้น ครูผู้กระทำพิธีจะรวบรวมบรรดาอาวุธทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการแสดงโขน-ละคร เช่น พระขรรค์ ดาบ หอก ธนู รวมทั้งบทละคร มัดรวมไว้ และครูจะภาวนาคาถาประสิทธิ์ประสาทความเป็นผู้รู้ และส่งมัดอาวุธให้ศิษย์ได้น้อมรับ

๑๒. ครูผู้ประกอบพิธีจะเจิมหน้าผาก ประพรมน้ำมนต์ พร้อมให้ของที่ระลึก(ถ้ามี) และกล่าวคำอวยพรให้กับศิษย์ทุกคนที่เข้าพิธีไหว้ครู
๑๓. ศิษย์ทุกคนจะรำส่งครู ซึ่งนิยมรำโปรยข้าวตอกดอกไม้เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป

ความสำคัญของหัวโขนเทพเจ้าหรือศีรษะครูที่ใช้ในพิธีไหว้ครูโขน-ละคร
ใน การจัดพิธีไหว้ครูโขน-ละครนั้น นอกจากมีพิธีการต่างๆ เช่น สวดมนต์เย็น พิธีไหว้ครู พิธีครอบ ในพิธีจะประกอบด้วยครูผู้ทำพิธี มีวงดนตรีปี่พาทย์บรรเลง มีเครื่องสังเวย เครื่องกระยาบวช และสิ่งหนึ่งที่นิยมนำเข้ามาร่วมพิธี คือ หัวโขนหรือศีรษะครู ได้แก่

๑. หัวโขนพระอิศวร แทนสัญลักษณ์องค์พระอิศวร ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่ง และเป็นเป็นเทพเจ้าผู้ทำลายล้าง เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน จะต้องตั้งให้สูงสุดกว่าหัวโขนอื่น
๒. หัวโขนพระนารายณ ์ แทนสัญลักษณ์องค์พระนารายณ์ ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าผู้บริหารและรักษาโลก เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน จะต้องต่ำกว่าพระอิศวร
๓. หัวโขนพระพรหม แทนสัญลักษณ์องค์พระพรหม ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าผู้สร้างโลก เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน ต้องต่ำกว่าพระอิศวร แต่เสมอกับพระนารายณ์
๔. หัวโขนพระอินทร์ แทนสัญลักษณ์องค์พระอินทร์ ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าที่จะคอยให้ความช่วยเหลือคนดี เป็นผู้บันดาลให้ฝนตก เพื่อให้ความชุ่มฉ่ำแก่พืชผลในแผ่นดิน เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน ต้องตั้งให้ต่ำกว่าพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม
๕. หัวโขนพระพิฆเนศ แทนสัญลักษณ์องค์พระพิฆเนศ ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ สติปัญญา ศิลปศาสตร์ เป็นใหญ่เหนืออุปสรรคทั้งมวล เป็นเทพผู้อยู่เหนือการรจนาหนังสือ เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน ต้องตั้งให้ลดลงต่ำกว่าเทพองค์อื่นๆ แต่อาจระดับเดียวกับพระอินทร์
๖. หัวโขนพระวิสสุกรรม แทนสัญลักษณ์องค์พระวิสสุกรรม ซึ่งถือเป็นเทพแห่งการช่างการก่อสร้าง และเกี่ยวข้องกับการละครชาตรี sที่ทรงเสด็จลงมาประทับยังเสากลางเวที เพื่อปกป้องภยันอันตรายทั้งปวง เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน ต้องตั้งลดลงมาจากพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระอินทร์ พระพิฆเนศ
๗. หัวโขนพระปรคนธรรพ แทนสัญลักษณ์องค์พระปรคนธรรพ ซึ่งถือว่าเป็นครูปี่พาทย์ เป็นผู้ประดิษฐ์พิณ เป็นผู้แต่งคัมภีร์กฎหมายที่เรียกว่า ” นารทิยาธรรมศาสตร์” เป็นผู้รอบรู้ในกาลทั้งสาม คือ ปัจจุบัน อดีต และอนาคต เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน จะตั้งทางด้านขวาของเวทีรวมกับศีรษะพระครูฤษีต่างๆ
๘. หัวโขนพระปัญจสีขร แทนสัญลักษณ์องค์พระปัญจสีขร ซึ่งถือว่าท่านเป็นครูพิณและขับร้องต่างๆ เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน จะตั้งทางด้านขวาของเวทีรวมกับศีรษะพระครูฤษีต่างๆ
๙. หัวโขนพระพิราพ แทนสัญลักษณ์องค์พระพิราพ ถือว่าเป็นครูอสูรเทพผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ ซึ่งศิลปินโขน-ละคร ดนตรีไทย เคารพสักการะในฐานะเป็นครูดุริยางคศิลป์และนาฏศิลป์ เป็นเทพเจ้าแห่งความตาย ความหายนะทั้งปวง ในขณะเดียวกันก็เป็นเทพเจ้าแห่งความประสบโชค ขจัดโรคภัยต่างๆ เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน จะตั้งทางด้านซ้ายของเวที ต่ำกว่าพระอิศวร แต่สูงกว่าหัวโขนยักษ์อื่นๆ และแยกออกมาอีกลุ่มหนึ่งนอกเหนือจากเทพหรือมนุษย์
๑๐. หัวโขนพระฤษีกไลโกฎ พรภรตฤษี พระฤษีตาวัว พระฤษีตาไฟ แทนสัญลักษณ์ของท่านแต่ละตน ซึ่งถือว่าเป็นครูฝ่ายมนุษย์ ที่ได้ถ่ายทอดท่ารำ และจดบันทึกท่ารำพระอิศวรไว้ โดยเฉพาะพระภรตฤษี (พ่อแก่) ศิลปินมักกล่าวถึงและมีไว้บูชา เพราะถือว่าท่านเป็นครูทางนี้โดยตรง ส่วนพระฤษีตนอื่น ศิลปินก็ให้ความเคารพนับถือเช่นกัน เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน จะตั้งทางด้านขวาของเวที แยกกลุ่มออกมาจากเทพเจ้าหรืออสูร

ดนตรีและเพลงที่ใช้ประกอบในพิธีไหว้ครูโขน-ละคร
ดนตรี ที่ใช้บรรเลงนิยมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า ส่วนเพลงที่บรรเลงประกอบในพิธีไหว้ครูเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ต้องบรรเลงเพลงหน้าพาทย์อันเป็นเพลงที่ในวงการศิลปินให้ความเคารพ ผู้ที่บรรเลงได้จะต้องเป็นบุคคลที่มีฝีมือเป็นอย่างดี เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดอาจจะมีผลถึงตนเอง ที่เรียกว่า “ผิดครู” ซึ่งเพลงดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับพิธีไหว้ครูเป็นอย่างมาก เป็นเพลงที่จะกำหนดอัญเชิญครูปัธยาย (ครูเทพเจ้าต่างๆ) มาร่วมในพิธี ซึ่งแต่ละสถานที่อาจมีการกำหนดเพลงเรียงตามลำดับไม่เหมือนกัน เช่น
๑. เพลงเหาะ
เชิญพระอิศวร
๒. เพลงกลม
เชิญเทพเจ้า
๓. เพลงโคมเวียน
เชิญเทวดาทั่วๆ ไป
๔. เพลงบาทสกุณี
เชิญพระนารายณ์
๕. เพลงตระพระปรคนธรรพ
เชิญพระปรคนธรรพ (ครูดนตรี)
๖. เพลงตระองค์พระพิราพเต็มองค์
เชิญองค์พระพิราพ
๗. เพลงคุกพาทย์
เชิญครูยักษ์ใหญ่ทั่วไป
๘. เพลงดำเนินพราหมณ์
เชิญผู้ทรงศีล
๙. เพลงช้า-เพลงเร็ว
เชิญครูมนุษย์
๑๐. เพลงเชิดฉิ่ง
เชิญครูนาง
๑๑. เพลงกราวนอก
เชิญครูวานรหรือพานร
๑๒. เพลงกราวใน
เชิญครูยักษ์ทั่วไป
๑๓. เพลงกราวตะลุง
เชิญครูแขก
๑๔. เพลงโล้
เชิญครูที่เดินทางน้ำ
๑๕. เพลงเสมอเถร
เชิญครูฤษีขึ้นสู่ที่ประทับ
๑๖. เพลงเสมอมาร
เชิญครูยักษ์ขึ้นสู่ที่ประทับ
๑๗. เพลงเสมอเข้าที่
เชิญครูที่มิได้เจาะจงว่าเป็นใครสู่ที่ประทับ
๑๘. เพลงเสมอผี
เชิญวิญญาณที่เกี่ยวข้องด้านนาฏศิลป์ดนตรีขึ้นสู่ที่ประทับ
๑๙. เพลงแผละ
เชิญสัตว์ปีกใหญ่ เช่น ครุฑ มาในพิธี
๒๐. เพลงลงสรง
เชิญครูที่มาทุกองค์ลงสรงน้ำ
๒๑. เพลงนั่งกิน
เชิญครูที่มาประชุมทุกองค์กินเครื่องเสวย
๒๒. เพลงเซ่นเหล้า
เชิญครูที่มาประชุมทุกองค์ดื่มสุรา
๒๓. เพลงช้า-เพลงเร็ว
เชิญทุกคนที่มาร่วมพิธีรำถวาย
๒๔. เพลงกราวรำ
เชิญศิษย์ทุกคนรำเพื่อเป็นสิริมงคลและส่งครูกลับ
๒๕. เพลงพระเจ้าลอยถาด
ส่งครูกลับ
๒๖. เพลงมหาชัย
บรรเลงส่งท้ายเพื่อความสามัคคี

Next Newer Entries