บุคคลสำคัญด้านดนตรีไทย


พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

               พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ประสูติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายฉิม เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่ทรงครองราชย์นั้น ประเทศไทยอยู่ในความสงบ ไม่มีการทำสงคราม พระมหากษัตริย์ทรงทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมในทุกๆด้านอย่างเต็มที่ นับได้ว่าในสมัยของพระองค์ศิลปวัฒนธรรมในทุกๆด้านเจริญถึงสุดขีด เป็นแบบอย่างจนถึงปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดดนตรีไทยมาก เครื่องดนตรีไทยที่ทรงโปรดเป็นพิเศษ คือ ซอสามสาย ทรงมีซอสามสายคู่พระหัตถ์อยู่คันหนึ่งชื่อว่า ซอสายฟ้าฟาด  ซึ่งจะทรงซอสามสายนี้ในเวลาว่างพระราชกิจ

               ในคืนหนึ่งหลังจากทรงซอสามสายแล้วเข้าได้ทรงพระสุบินว่าพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งปรากฏในพระสุบิตนิมิตนั้นว่า เป็นรมณียสถานสวยงามไม่มีแห่งใดในโลกเสมอเหมือน ขณะนั้นได้ทอดพระเนตรเห็นดวงจันทร์ลอยเข้ามาใกล้พระองค์และได้สาดแสงสว่างไปทั่วบริเวณ และในขณะนั้นได้ทรงสดับเสียงดนตรีทิพย์ ซึ่งมีความไพเราะเสนาะพระกรรณเป็นที่ยิ่ง พระองค์จึงเสด็จประทับทอดพระเนตรทิวทัศน์อันงดงาม และทรงสดับเสียงดนตรีอันไพเราะอยู่ด้วยความเพลิดเพลิน ครั้นแล้วดวงจันทร์ก็ค่อยๆลอยถอยห่างออกไปในท้องฟ้า ทั้งสำเนียงดนตรีทิพย์นั้นก็ค่อยๆจางจนหมดเสียง พลันก็ตื่นจากบรรทม

               แม้เสด็จตื่นจากบรรทมแล้วเสียงดนตรีในพระสุบินก็ยังก้องอยู่ในพระโสต จึงได้โปรดให้ตามเจ้าพนักงานดนตรีเข้ามาต่อเพลงที่ทรงพระสุบินนั้นไว้ แล้วพระราชทานชื่อว่า “เพลงบุหลันลอยเลื่อน” หรือ “บุหลันลอยฟ้า” หรือบางทีก็เรียกว่า “เพลงสรรเสริญพระจันทร์” ซึ่งนักดนตรีจำสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ประชาชนมักจะเรียกเพลงนี้ว่า “เพลงทรงพระสุบิน” เพลงนี้เคยใช้สรรเสริญพระบารมีสมัยหนึ่ง และเมื่อมีเพลงสรรเสริญพระบารมีทำนองอื่นเกิดขึ้นมาอีก เพลงนี้จึงเรียกกันว่า “เพลงสรรเสริญพระบารมีไทย”

เนื่องจากพระองค์ทรงพอพระทัยในดนตรีไทยโดยเฉพาะซอสามสาย ได้ประกาศให้ตราภูมิคุ้มห้าม ยกเว้นภาษีอากรให้แก่สวนมะพร้าว ชนิดที่ทำกระโหลกซอได้ เพราะมะพร้าวชนิดนี้หายากมากจึงทรงอนุรักษ์ไว้เป็นแบบอย่าง

________________________________________

ครูมนตรี ตราโมท

 

มนตรี ตราโมท

               อาจารย์มนตรี  ตราโมท  เดิมชื่อ  บุญธรรม  ตราโมท  เกิดวันที่  17  มิถุนายน  พ.ศ.  2443  ที่บ้านท่าพี่เลี้ยง   อำเภอเมือง  จังหวัดสุพรรณบุรี  เป็นบุตรนายยิ้ม  และนางทองอยู่  เมื่อ  พ.ศ.  2475  สมรสกับนางสาวลิ้นจี่  (บุรานนท์)  มีบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่  2  คน  คือ  นายฤทธี  และนายศิลปี  ต่อมาเมื่อนางลิ้นจี่  ถึงแก่กรรมจึงแต่งงานกับนางสาวพูนทรัพย์  (นาฏประเสริฐ)  มีบุตร  2  คน  คือ  นางสาวดนตรี  และนายญาณี
–ความสามารถและผลงาน–
               อาจารย์มนตรี  ตราโมท  เริ่มการศึกษา   โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุพรรณบุรี  (ปรีชาพิทยากร)  สอบได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3 ภายหลังไปเรียนต่อที่โรงเรียนพรานหลวง  ในพระบรมราชูปถัมภ์  จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่  6
               อาจารย์มนตรี  สนใจดนตรีมาตั้งแต่เด็ก  เนื่องจากบ้านอยู่ใกล้วัดสุวรรณภูมิ  ซึ่งที่วัดนี้มีวงปี่พาทย์และมีการฝึกซ้อมอยู่เสมอ  จึงได้ยินเสียงเพลงจากวงปี่พาทย์อยู่เป็นประจำ   จนในที่สุดได้รู้จักกับนักดนตรีในวงและขอเข้าไปเล่นด้วย  เมื่อมีการบรรเลงก็มักจะไปช่วยตีฆ้องเล็กหรือทุ้มเหล็กด้วยเสมอ
               เมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่  3  อาจารย์มนตรีตั้งใจจะมาเรียนต่อในกรุงเทพฯ  แต่บังเอญเจ็บกระเสาะกระแสะเรื่อยมา  จึงไม่ได้เรียนต่อ  ครูสมบุญ  นักฆ้องซึ่งเป็นครูปี่พาทย์ประจำวงที่วัดสุวรรณภูมิ  ชวนให้มาหัดปี่พาทย์  จึงได้เริ่มเรียนอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมาประมาณ  2  ปี  และได้เป็นนักดนตรีประจำวงปี่พาทย์  จังหวัดสุพรรณบุรี
               ต่อมา  ได้ไปศึกษาเพิ่มเติมด้านปี่พาทย์ที่จังหวัดสมุทรสาคร  ราว  พ.ศ.  2456  ที่บ้านครูสมบุญ  สมสุวรรณ  ที่บ้านนี้มีวงปี่พาทย์และแตรวง  อาจารย์มนตรีจึงได้ฝึกทั้ง  2  อย่างคือ ด้านปี่พาทย์  ฝึกระนาดเอกและฆ้องวงใหญ่  ด้านแตรวง  ฝึกเป่าคลาริเน็ต  นอกจากนี้ครูสมบุญยังได้แนะวิธีแต่งเพลงให้ด้วย
               ในปี   พ.ศ.  2460 อาจารย์มนตรี  ได้เข้ามาสมัครรับราชการในกรมพิณพาทย์หลวง  ซึ่งมีพระยาประสานดุริยศัพท์  (แปลก  ประสานศัพท์)  เป็นเจ้ากรม  ขณะที่ทำงานอยู่ก็ได้เรียนโรงเรียนพรานหลวงด้วยจนจบมัธยมศึกษาปีที่  6
               อาจารย์มนตรี  ได้รับเลือกเป็นนักดนตรีประจำวงข้าหลวงเดิม  เป็นวงที่จะต้องตามเสด็จทุกๆแห่ง  โดยพระยาประสานดุริยศัพท์จะเป็นผู้ควบคุมทุกครั้ง  อาจารย์มนตรี  เริ่มแต่งเพลงเมื่ออายุ  20  ปี  เพลงแรกที่แต่ง  คือ  เพลงต้อยติ่ง  3  ชั้น เมื่อ  พ.ศ.  2467  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวน  แพทย์ถวายการแนะนำให้ทรงฟังนิทานหรือดนตรีเบา  ประกอบกับเสวยพระโอสถ  กรมมหรสพจึงจัดวงเครื่องสายเบาๆ บรรเลงถวาย  วงเครื่องสายนี้ได้เพิ่มขิมขึ้น  อาจารย์มนตรีได้รับหน้าที่เป็นผู้ตีขิม  ในวังหลวงเป็นคนแรก  บรรเลงถวายทุกวันจนพระอาการหายเป็นปกติ

 ________________________________________

 พระยาประสานดุริยศัพท์(แปลก ประสานศัพท์)

 

พระยาประสานดุริยศัพท์

                พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เป็นบุตรคนโตของขุนกนกเรขา (ทองดี)กับนางนิ่ม เกิดเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2403 ตรงกับวันอังคาร ณ บ้านเลขที่ 81 ตรอกไข่ ถนนบำรุงเมือง ตำบลหลังวัดเทพธิดากรุงเทพมหานคร ท่านได้เรียนปี่ชวากับครูชื่อ “หนูดำ” ส่วนวิชาดนตรีปี่พาทย์อย่างอื่น ได้ศึกษาอย่างจริงจังกับครูช้อย สุนทรวาทิน (บิดา) จนบรรลุแตกฉาน ท่านเข้ารับราชการ ตั้งแต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระยศเป็นพระยุพราช ได้ทูลขอพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้นายแปลกเป็นที่“ขุนประสานดุริยศัพท์”นับจากนั้นก็ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์มาเป็นลำดับ จนได้เป็นที่ “พระยาประสานดุริยศัพท์” เจ้ากรมปี่พาทย์หลวง ในสมัยรัชกาลที่ 6  ความรู้ความสามารถของพระยาประสานดุริยศัพท์นั้น เป็นที่กล่าวขวัญเรื่องลือว่า ท่านเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยฝีมือ ความรู้ ปฏิภาณ ไหวพริบ ท่านเป็นครู และเป็นศิลปินที่หาได้ยากยิ่ง เมื่อปี พ.ศ.2428 ท่านได้รับเลือกให้ไปร่วมฉลองครบรอบร้อยปีของพิพิธภัณฑ์เมืองอวิมปลีย์ที่ประเทศอังกฤษผลของการบรรเลงขลุ่ยของท่านเป็นที่พอพระราชหฤทัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียเป็นอย่างยิ่งถึงกับรับสั่งขอฟังเพลงขลุ่ยเป็นการส่วนพระองค์ในพระราชวังบัคกิ้งแฮมอีกครั้งการบรรเลงครั้งหลังนี้สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียทรงลุกจากที่ประทับและใช้พระหัตถ์ลูบคอพระยาประสานฯพร้อมทั้งรับสั่งถามว่า “เวลาเป่านั้นหายใจบ้างหรือไม่ เพราะเสียงขลุ่ยดังกังวานอยู่ตลอดเวลา”

               พระยาประสานดุริยศัพท์ได้แต่งเพลงไว้ดังนี้คือ เพลงเชิดจั่น 3 ชั้น พม่าหัวท่อน เขมรราชบุรี เขมรปากท่อ เขมรใหญ่ ถอนสมอ ทองย่อน เทพรัญจวน แมลงภู่ทอง สามไม้ใน อาถรรณ์ พราหมณ์เข้าโบสถ์ ธรณีร้องไห้ มอญร้องไห้ เป็นต้น ความสามารถทางดนตรีของท่านนั้น ทำให้ท่านมีลูกศิษย์ที่มีความสามารถเป็นทวีคูณขึ้นไป และศิษย์ของท่านเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปคือพระประดับดุริยกิจ (แหยม วิณิณ) พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) หลวงบรรเลงเลิศเลอ (กร กรวาทิน) พระยาภูมิเสวิน (จิตร จิตตเสรี) อาจารย์มนตรี ตราโมท ครูเฉลิม บัวทั่ง เป็นต้น พระยาประสานดุริยศัพท์ ป่วยโดยโรคชรา และถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ 105 ปี ในปี พ.ศ. 2467

________________________________________

ครูบุญยงค์ เกตุคง

               นายบุญยงค์ เกตุคง เริ่มเรียนดนตรีกับครูทองหล่อ(ละม้าย) มีขันทอง ต่อมาได้เรียนและต่อเพลงกับครูดนตรีที่มีชื่อเสียงอีกหลายท่าน เช่น

 

บุญยงค์ เกตุคง

ครูหรั่ง พุ่มทองสุข ครูชื้น ดุริยประณีต ครูชั้น ดุริยประณีต ครูเพชร จรรย์นาฏ ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และครูพุ่ม ปาปุยวาทย์ รับราชการเป็นนักดนตรีประจำวงกรมประชาสัมพันธ์ ต่อมาประจำสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม แล้วย้ายไปสังกัดกรุงเทพมหานคร และได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีไทยกรุงเทพมหานครจนเกษียณอายุ นายบุญยงค์ เกตุคงเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในทางดนตรีอย่างยิ่ง บรรเลงปี่พาทย์ได้ทุกชนิด โดยเฉพาะระนาดเอกซึ่งได้รับการยกย่องเป็นพิเศษ ร่วมบรรเลงกับวงดนตรีต่างๆ เช่นวงนายทองใบ รุ่งเรือง วงดุริยประณีต วงพาทยโกศล วงนายเพชร จรรย์นาฏ ร่วมมือกับนายบุญยัง และนายบุญสม มีสมวงศ์(พรภิรมย์) จัดตั้งคณะลิเกใช้ชื่อคณะว่า เกตุคงดำรงศิลป์ ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดลิเกทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อพ.ศ. 2500 ศิษย์ ที่มีชื่อเสียงคือ บรูซ แกสตัน(Bruce Gaston) ซึ่งเป็นนักดนตรีชาวอเมริกัน ได้ร่วมมือกันก่อตั้ง วงฟองน้ำ ขึ้นและจัดทำเพลงชุดต่างๆโดยใช้เครื่องดนตรีไทยผสมเครื่องอื่นๆ นายบุญยงค์ เกตุคง ได้แต่งเพลงไว้จำนวนมาก เช่น โหมโรงแว่นเทียนชัย โหมโรงจุฬามณี โหมโรงสามสถาบัน เพลงเทพชาตรี เถา เพลงสร้อยลำปาง เถา เพลงวัฒนาเวียตนาม เถา เพลงชเวดากอง เถา เพลงสยามานุสสติ เถา เพลงนกกระจอกทอง เถา เพลงขอมกล่อมลูก เถา เพลงเดือนหงายกลางป่า เถา และ เพลงตระนาฏราช นายบุญยงค์ เกตุคง ได้รับพระราชทานโล่ห์ เกีรยติยศจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะนักดนตรีไทยตัวอย่าง เมื่อพ.ศ.2524 ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปีพ.ศ.2531 และเป็นภาคีสมาชิกประเภทวิจิตรศิลป์ สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน

               ครูบุญยงค์ เกตุคงเกิดเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2463 เป็นบุตรนายเที่ยงกับนางเขียน ชาวกรุงเทพมหานคร(ฝั่งธนบุรี) ภรรยาชื่อ พายัพ มีบุตรี 1 คน มีน้องชายชื่อนายบุญยัง เกตุคง เป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียง

 ________________________________________ 

พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์  กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม

 

กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม

               กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม  มีพระนามเดิมว่า  พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์   เป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  กับเจ้าจอมมารดารมรกต  ประสูติเมื่อวันที่  13  กันยายน  พ.ศ.  2425   ตรงกับวันพุธ  ขึ้น  7  ค่ำ  เดือน  10  ปีมะเส็ง  รัตนโกสินทร์ศก  101  ทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ  เมื่อเสด็จกลับได้ทรงเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตราธิการ  ในปี  พ.ศ.  2451  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ตั้งพระเจ้าลูกยาเธอ  พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์  เป็น กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม
–ความสามารถและผลงาน–
               กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม  ทรงสนพระทัยดนตรีไทยมากถึงกับมีวงปีพาทย์วงหนึ่งเรียกกันว่า  “วงพระองค์เพ็ญ”   ทรงเป็นนักแต่งเพลงมราสามารถพระองค์หนึ่ง  โดยได้ทรงแต่งเพลง “ลาวดวงเดือน”  ซึ่งเป็นเพลงที่นิยมกันแพร่หลายในปัจจุบัน
              สำหรับเพลงลาวดวงเดือนนี้  พระองค์ท่านแต่งขึ้นต้องการให้มีสำเนียงลาว  เนื่องจากโปรดทำนองและลีลาเพลง  “ลาวดำเนินทราย”  เมื่อคราวที่เสด็จตรวจราชการ  ภาคอีสาน  ระหว่างที่ประทับแรมอยู่ตามทางจึงทรงแต่งเพลงลาวดวงเดือนขึ้น  เพื่อให้คู่กับเพลงลาวดำเนินทราย   ประทานชื่อว่า  “เพลงลาวดำเนินเกวียน”   ได้มีผู้กล่าวว่า  แรงบันดาลใจที่พระองค์แต่งนั้นเนื่องจากผิดหวังในความรัก  คือ  เมื่อพระองค์จบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ  เสด็จขึ้นไปเที่ยวเชียงใหม่  และได้พบกับเจ้าหญิงชมชื่น  ธิดาเจ้าราชสัมพันธวงศ์  พระองค์สนพระทัยมากจนถึงกับให้ผู้ใหญ่ในมณฑ,พายัพเป็นเถ้าแก่เจรจาสู่ขอแต่ได้รับคำตอบจากเจ้าราชสัมพันธวงศ์ว่าขอให้เจ้าหญิงชมชื่นอายุ  18  ปีก่อน  เพราะขณะนั้นอายุเพียง  16  ปี  และขอให้ได้รับพระบรมราชนุญาตด้วย  เมื่อกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมกลับถึงกรุงเทพฯ  ก็ได้รับการทัดทานจากพระบรมวงศานุวงศ์มาก  พระองค์ได้รับความผิดหวัง  จึงระบายความรักด้วยความอาลัยลงในพระนิพนธ์บทร้อง  “เพลงลาวดวงเดือน”  ซึ่งเป็นเพลงที่มีความหมายไพเราะอ่อนหวามจับใจผู้ฟังมาจนทุกวันนี้ พระองค์สิ้นพระชนม์ (ประชวนพระโรคปอด)  เมื่อวันที่  11  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2452  มีพระชนมายุเพียง  28  พรรษา

 

 

ใส่ความเห็น